ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นสภาพที่บีบคั้น อันได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสูญสิ้น) การประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก การปรารถนาแล้วไม่สมหวัง กล่าวโดยย่อ ทุกข์คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5
อธิบายให้ง่ายกว่านั้น ทุกข์ หมายถึง สภาพที่ไม่สบาย ไม่ว่าจะไม่สบายกายหรือไม่สบายใจนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปกติแล้วเรามักเห็นว่า ความทุกข์มักถูกใช้ควบคู่ไปกับความหมายของ “ทุกขเวทนา” ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดไปว่า ทุกข์หมายถึงความทุกข์เจ็บปวด แต่แท้จริงแล้วทุกข์ไม่ได้มีเพียงแต่ทุกขเวทนา (ที่เป็นทุกข์เจ็บปวด) เท่านั้น แต่หมายถึงขันธ์ทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่
- ชาติ (การเกิด)
- ชรา
- มรณะ
- การประสบสิ่งไม่เป็นที่รัก
- การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
- การปรารถนาแล้วไม่สมหวัง
ในทางพระพุทธศาสนา การกำหนดและรับรู้ทุกข์ถือเป็นกิจในอริยสัจ 4 ที่ทำให้รู้ถึงปัญหา เพื่อละและปล่อยวางในลำดับต่อไปในกิจทั้ง 4 ของอริยสัจ ซึ่งได้แก่ รู้ทุกข์ เพื่อค้นหาสาเหตุในการดับทุกข์ (สมุทัย) แล้วตั้งจุดมุ่งหมายในการดับทุกข์ (นิโรธ) และดำเนินเส้นทางสู่ความดับทุกข์ (มรรค) คือปล่อยวางไม่ยึดติดในใจด้วยอำนาจกิเลส
ทุกขสัจ 11 อย่าง
ทุกข์ เป็นความจริงอันประเสริฐข้อแรกของอริยสัจ 4 จึงเรียกว่า “ทุกขสัจ” โดยทุกขสัจประกอบด้วย 11 อย่าง ได้แก่
- ชาติ คือ ความเกิด ความบังเกิด ความเป็นจุดเริ่มต้น ความปรากฏแห่งขันธ์
- ชรา คือ ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยว ความเสื่อมแห่งอายุ
- มรณะ คือ ความหายไป ความตาย ความทำลายแห่งขันธ์
- โสกะ คือ ความเศร้าโศก ความทุกข์ใจ
- ปริเทวะ คือ ความรู้สึกเศร้าโศก เสียใจ ร่ำไห้ หรือคร่ำครวญ ซึ่งมักเกิดจากความสูญเสีย ความผิดหวัง หรือความเจ็บปวดทางใจ
- ทุกข์ (กาย) คือ ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย
- โทมนัส คือ ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ดี ที่เป็นทุกข์เกิดแต่ มโนสัมผัส (สัมผัสทางใจ นึกคิดขึ้นมา)
- อุปายาส คือ ความคับแค้น
- ความสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก รวมถึงสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
- ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
- ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น เกิดจากการปรารถนาแล้วไม่สมหวังดั่งใจ
หมายเหตุ: ทุกข์เป็นหนึ่งในชื่อเรียกที่เป็นคำไวพจน์ (ความหมายเหมือนกัน) ของขันธ์ที่ถูกใช้อย่างมากในพระไตรปิฎก
อ้างอิง ทุกข์ ส่วนหนึ่งของชุดบทความ ศาสนาพุทธ (Wikipedia)