พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าเป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยลูกเสือ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยพระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551″ ซึ่งมาแทนที่พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507, พระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2509, พระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528, และพระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2530
นิยามเกี่ยวกับ “ลูกเสือ”
ลูกเสือ หมายความว่า เด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิง ที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ส่วนลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกว่า เนตรนารี
บุคลากรทางการลูกเสือ หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือ อาสาสมัครลูกเสือ และเจ้าหน้าที่ลูกเสือ
คณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วย บรรดาลูกเสือทั้งปวงและบุคลากรทางการลูกเสือ
ประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ คือ พระมหากษัตริย์
วัตถุประสงค์ของ “คณะลูกเสือแห่งชาติ”
คณะลูกเสือแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคี และมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุข และความมั่นคงของประเทศชาติตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
- ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง
- ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
- ให้รู้จักทำการฝีมือและฝึกฝนให้ทำกิจการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
- ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศชาติ
โดยให้กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนงานของคณะลูกเสือแห่งชาติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือจังหวัด สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดกิจกรรมลูกเสือเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
สภาลูกเสือไทย
สภาลูกเสือไทยมีอำนาจหน้าที่ ในการวางนโยบายเพื่อความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของคณะลูกเสือแห่งชาติ, ให้คำแนะนำในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ, และพิจารณารายงานประจำปีของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเป็นองค์กรบริหารของคณะลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
- ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย
- ส่งเสริมความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ
- สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ
- สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
- จัดการทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- ให้ความเห็นชอบในการลงทุนเพื่อประโยชน์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- ออกข้อบังคับของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- วางระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ
- จัดทำรายงานประจำปีเสนอสภาลูกเสือไทยพิจารณาตามมาตรา 12 (3)
- แต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมอบหมาย
- กำกับดูแล สนับสนุนและส่งเสริมกิจการลูกเสือชาวบ้าน
- จัดตั้งตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และตำแหน่งอื่นใดที่มิได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
สำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
- ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินของคณะลูกเสือแห่งชาติหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
- ทำนิติกรรมสัญญาหรือข้อตกลงอื่น
- รับผิดชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการ และคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ รวมทั้งถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของลูกเสือ
- จัดให้มีการฝึกอบรมหรือการชุมนุมลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือ
- จัดทำรายงานประจำปีพร้อมงบดุลเสนอคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกเสือ
- ประสานและส่งเสริมสำนักงานลูกเสือจังหวัดและสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
- ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและตามมติของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
ลูกเสือจังหวัด
แต่ละจังหวัดให้จัดระเบียบการปกครองลูกเสือตามเขตจังหวัด และสำหรับการจัดระเบียบการปกครองลูกเสือในกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายจัดตั้งเป็นรูปแบบพิเศษให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตจังหวัด ดังต่อไปนี้
- ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- ส่งเสริมและสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือ
- สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ
- ควบคุมดูแลทรัพย์สินในกิจการของลูกเสือจังหวัด
- พิจารณาคำขอการจัดตั้งค่ายลูกเสือตามมาตรา ๓๒
- พิจารณารายงานประจำปีของสำนักงานลูกเสือจังหวัด
- ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการประจำปี
- ให้คำแนะนำผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาในการปฏิบัติงานลูกเสือ
- จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกิจการลูกเสือ
- ออกระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ เพื่อความเหมาะสมแก่การปกครองในจังหวัดซึ่งจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- จัดทำรายงานประจำปีและรายงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการลูกเสือในจังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดมอบหมาย
- ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมอบหมาย
ทั้งนี้ การจัดตั้งค่ายลูกเสือในจังหวัดใดต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด และให้คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดรายงานต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติทราบ และการขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
ลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา มีหน้าที่ในการบริหารงานลูกเสือในเขตพื้นที่การศึกษานั้น ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่การศึกษา ดังต่อไปนี้
- ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- ส่งเสริมและสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือ
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมลูกเสือทั้งในและนอกสถานศึกษา
- ควบคุมดูแลทรัพย์สินในกิจการของลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
- พิจารณารายงานประจำปีของสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาและรายงานให้คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดทราบ
- ให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการประจำปี
- ให้คำแนะนำแก่ผู้อำนวยการสถานศึกษาในการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมลูกเสือ
- จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกเสือ
- กำกับดูแล สนับสนุนและส่งเสริมกิจการลูกเสือชาวบ้านในเขตพื้นที่การศึกษา
- ออกระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ เพื่อความเหมาะสมแก่การปกครองในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะต้องไม่ขัดแย้งกับกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ
ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือมีลำดับ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้อำนวยการใหญ่
(2) รองผู้อำนวยการใหญ่
(3) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่
(4) ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด
(5) รองผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด
(6) ผู้ช่วยผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด
(7) ผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
(8) รองผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
(9) ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน
(10) รองผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน
(11) ผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ
(12) รองผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ
(13) ผู้กำกับกองลูกเสือ
(14) รองผู้กำกับกองลูกเสือ
(16) นายหมู่ลูกเสือ
(16) รองนายหมู่ลูกเสือ
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้อำนวยการใหญ่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ และรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด และปลัดจังหวัด เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด
ให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาและรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นรองผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
ตำแหน่งผู้ตรวจการลูกเสือ
ผู้ตรวจการลูกเสือมีหน้าที่ตรวจตรา แนะนำ ชี้แจง และรายงาน เพื่อให้การบริหารงานลูกเสือเป็นไปตามนโยบาย ข้อบังคับ ระเบียบ และแบบธรรมเนียมของลูกเสือ โดยตำแหน่งผู้ตรวจการลูกเสือมีลำดับ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ตรวจการใหญ่พิเศษ
(2) ผู้ตรวจการใหญ่
(3) รองผู้ตรวจการใหญ่
(4) ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(5) รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(6) ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
(7) ผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
(8) รองผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
(9) ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
(10) ผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
(11) รองผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตรวจการใหญ่พิเศษ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ตรวจการใหญ่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นรองผู้ตรวจการใหญ่ การแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือและการกำหนดหน้าที่ของผู้ตรวจการลูกเสือให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
ธง เครื่องแบบ และการแต่งกาย
ธงคณะลูกเสือแห่งชาติและธงลูกเสือประจำจังหวัด รับพระราชทานจากประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ ให้มีธงคณะลูกเสือไทยและธงลูกเสืออื่น ๆ เพื่อประโยชน์ในการร่วมกิจกรรมระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ทั้งนี้ ธง เครื่องแบบ และการแต่งกาย จะไม่ได้ถูกระบุเอาไว้ในพระราชบัญญัติ ลูกเสือ พ.ศ. 2551 ทั้งหมด แต่จะเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
บทกำหนดโทษ
พระราชบัญญัติ ลูกเสือ พ.ศ. 2551 ได้มีการระบุบทกำหนดโทษ เอาไว้ในมาตรา 69 และ มาตรา 70 ดังนี้
มาตรา 69 ผู้ใดแต่งเครื่องแบบลูกเสือ หรือประดับเครื่องหมายลูกเสือโดยไม่มีสิทธิ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ หรือแต่งกายเลียนแบบหรือประดับเครื่องหมายเพื่อให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนเป็นลูกเสือหรือบุคลากรทางการลูกเสือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 70 ผู้ใดทำปลอมเข็มลูกเสือสมนาคุณ หรือเข็มลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์ด้วยวิธีใด ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ