เนตรนารีไทย ก่อตั้งขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยมีพระราชคำนึงว่า สตรีและเด็กหญิงเองก็อาจเป็นกำลังของชาติได้ จึงได้ทรงตั้งกลุ่มสตรีขึ้นเรียกว่า “สมาชิกแม่เสือ” และได้รับฟื้นฟูโดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีพระราชธิดาพระองค์เดียว และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6
การก่อตั้งเนตรนารีในขณะนั้นหรือที่เรียกว่า “สมาชิกแม่เสือ” จะเปิดรับสมัครสตรีที่ส่วนมากเป็นภรรยาและบุตรของเสือป่า โดยเหล่าสมาชิกแม่เสือจะมีหน้าที่ในการจัดหาเสบียงและเวชภัณฑ์เพื่อส่งให้กองเสือป่า อีกทั้งยังออกชำระค่าบำรุงสโมสรลูกเสือด้วย ซึ่งในขณะนั้นลูกเสือที่เป็นผู้ใหญ่เสียค่าบำรุง 2 บาท/ปี และลูกเสือที่เป็นเด็กเสียค่าบำรุง 50 สตางค์/ปี
โดยที่สมาชิกแม่เสือจะมีสิทธิประดับเข็มเครื่องหมายเป็นรูปหน้าเสือทำด้วยเงิน เชิญพระปรมาภิไธย ย่อว่า ว.ป.ร. ทองอุณาโลม มีโบว์ดำเป็นรูปดอกจันทร์สอดใต้เข็มเครื่องหมายติดไว้ที่อกเสื้อ แต่อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนั้นสมาชิกแม่เสือจะยังไม่มีเครื่องแบบและยังไม่มีระเบียบข้อบังคับเหมือนในปัจจุบัน
ต่อมาพระองค์ได้มีพระราชดำริที่จะจัดตั้ง กองลูกเสือหญิง และได้ทรงคิดนามพระราชทานไว้ว่า เนตรนารี ด้วยทรงเห็นว่าเด็กผู้หญิงย่อยมมีความสำคัญแก่ครอบครัว ถ้าได้รับการฝึกอบรมตามวิธีการของลูกเสือก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างมาก จึงทรงร่างข้อบังคับลักษณะปกครองคณะเนตรนารีมากล่าวไว้ ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานปรารถนาว่า
ได้ทรงจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเพื่อบำรุงเด็กชายให้ได้รับการฝึกฝนในทางที่จะเป็นผู้มีลักษณะสมกับที่เป็นพลเมืองอันพึงปรารถนา มีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงเด็กหญิงด้วย เพราะเด็กหญิงเป็นผู้มีความเป็นเป็นอยู่ของชาติ ต้องอาศัยนับจำเดิมแต่ปฐมวัยมา คือ เด็กหญิงเป็นผู้ที่นำทางพี่น้อง แม้ที่สุดบางทีก็ถึงนำทางบิดา มารดา ด้วยเมื่อเติบโตเป็นพลเมืองในสมัยข้างหน้าไปตามที่ได้รับ การอบรมได้จึงมีพระราชดำริว่า ถึงเวลาที่ควรจะฝึกหัดให้หญิงเป็นผู้นำทางไปที่ชอบ คือ ฝึกฝนให้เด็กหญิงเหมาะที่จะเป็นพลเมืองดีในภายหน้าด้วยการอบรมนิสัยฝึกหัดให้รู้จักสังเกต รู้จักอยู่ในถ้อยคำของผู้ใหญ่ ตลอดจนอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมาย มีความจงรักภักดีต่อผู้ใหญ่ของตน ตลอดจน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ทำประโยชน์แก่มหาชนและในกิจการที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนที่ฝึกหัดร่างกายให้เจริญเต็มที่
จึงทรงตราพระราชบัญญัติเนตรนารีขึ้น
เนตรนารีกองแรก
เนตรนารีกองแรก คือ กองเนตรนารี โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
นางสาวหนุ่ย โชติกเสถียร 1 ในเนตรนารีกองแรก ได้เขียนถึงกิจกรรมสำหรบเนตรนารีในสมัยนั้นเอาไว้ว่า
ในปี พ.ศ. 2457 โรงเรียนกุลสตีรวังหลัง จัดตั้งกองเนตรนารีขึ้น และให้เราเป็นกลุ่มแรกที่รับการฝึกหัด ข้าพเจ้ายังจำและรู้สึกถึงความสนุกสนานของเวลานั้นได้จนบัดนี้ เราช่วยกันจัดข้าวของและห้องหลับ หองนอน ตลอดจนช่วยครัว ห้าโมงเย็นก็ลงมือรับประทานอาหาร สองทุ่มก็เข้านอนกันหมด เข้าเรียนเวลา สามโมงเช้า และเรียนกันตามใต้ร่มไม้ วิชาที่เรียนคือ
- วิชาพฤกษศาสตร์ เป็นวิชาที่พวกเราชอบมาก เพราะได้ลงมือเพาะเมล็ดพืช ผัก ดอกไม้ มันฝรั่งและหัวหอม
- วิชาปฐมพยาบาล หัดช่วยคนเป็นลม วิธีพันผ้าพันแผลและเข้าเฝือก เราจับเด็กชาวนามาชำระล้างและพันแผลให้
- วิธีทำกับข้าว หุงข้าว วิชานี้เป็นงานไปในตัว เพราะเราต้องผลัดเวรกันไปตลาดและทำกับข้าว เวลาบ่ายๆเราต้องเรียนและฝึกซ้อมกฎของเนตรนาร คือพยายามหาความงามในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนประพฤติ โดยมีความสุภาพอ่อนโยน อารีอารอบ ต้องพยายามหาความรู้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และส่วนตัว อดทนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เวลาเรียกเข้าประชุมอาจารย์มักจะกู่ว่า โว วิลโล่ “Vo-vi-lo” หลาย ๆ ครั้ง พวกเราก็รีบวิ่งมาทันที
กิจการเนตรนารีหลังเปลี่ยนการปกครอง
ภายหลังเปลี่ยนการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 กิจการลูกเสือทรุดโทรมลง กิจการเนตรนารีซึ่งมีสภาพเช่นเดียวกันก็พลอยทรุดโทรมลงไปด้วย มีการตั้งหน่วยยุวชนและยุวนารีขึ้นแทน ในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรืองอำนาจ การลูกเสือก็ยิ่งซบเซามากขึ้น
ใน พ.ศ. 2496 เมื่อกิจการลูกเสือได้ฟื้นฟูขึ้นแล้ว เรือเอกหลวงชัชวาล ชลธีหัวหน้ากองลูกเสือ จึงได้นำร่างข้อบังคับลักษณะ ปกครองคณะเนตรนารีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาขอให้ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภาวัฒนาธรรมแห่งชาติและอุปนายกสโมสรวัฒนธรรมหญิง เมื่อ พ.ศ. 2497 รื้อฟื้นกิจการเนตรนารีขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2499 ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล จึงได้นำเยาวชน สมาชิกของสโมสรวัฒนธรรมหญิง จำนวน 32 คน ไปฝึกการอยู่ค่ายพักแรมที่ ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี
โดยต่อมา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้พระราชทานกำเนิดกองเนตรนารี และทรงรับกิจการเนตรนารีนี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยพระราชทานเงินสนับสนุนกิจการและทรงเสด็จร่วมงานของคณะเนตรนารี ต่อมาพระราชทานนามคณะเตรนารีว่าคณะเนตรนารีเพชราวุธ โดยเกิดจากการสนธิระหว่างคำ 2 คำ จากพระปรมาภิไธยของพระราชชนกและของพระองค์
ประเภทของเนตรนารี
ประเภทของเนตรนารี มี 4 ประเภท คือ
- เนตรนารีสำรอง ป.1 – ป.4
- เนตรนารีสามัญ ป.5 – ป 6
- เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ ม.1 – ม 3
- เนตรนารีวิสามัญ ม.ปลาย และอาชีวะศึกษา
และตั้งแต่เนตรนารีสามัญขึ้นไปแบ่งเหล่าของเนตรนารีเป็น 3 เหล่าเช่นเดียวกับเหล่าของลูกเสือ ได้แก่
- เหล่าเสนา
- เหล่าสมุทรเสนา
- เหล่าเสนาอากาศ
อ้างอิง คณะเนตรนารีเพชราวุธ และ ประวัติความเป็นมาเนตรนารี(16 ส.ค.66) และ Girl Scouts เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เนตรนารีกองแรกของไทย เรียนและฝึกอะไรกัน