กฎของลูกเสือ 10 ข้อ และ คําปฏิญาณของลูกเสือ 3 ข้อ

เมื่อ

โดย

กฎของลูกเสือ 10 ข้อ คําปฏิญาณของลูกเสือ 3 ข้อ กฎของเนตรนารี 10 ข้อ กฎลูกเสือ

กฎของลูกเสือ และ คําปฏิญาณของลูกเสือ เป็นแนวทางที่ลูกเสือเนตรนารีให้คำมั่นไว้และจะต้องยึดถือปฏิบัติตนเพื่อให้เป็นลูกเสือที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม

โดยคําปฏิญาณของลูกเสือจะมี 3 ข้อสำหรับ ลูกเสือสามัญ, ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่, และลูกเสือวิสามัญ ในขณะที่ลูกเสือสำรองจะมี 2 ข้อ ในขณะที่กฏของลูกเสือจะมี 10 ข้อ สำหรับ ลูกเสือสามัญ, ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่, และลูกเสือวิสามัญ และ 2 ข้อสำหรับลูกเสือสำรอง

เนื่องจาก ลูกเสือสำรองเป็นลูกเสือเนตรนารีที่อายุน้อยที่สุด (ระหว่าง 8 – 11 ปี) ทำให้มีคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือสำรองโดยเฉพาะซึ่งกำหนดไว้สามารถเข้าใจและจดจำได้ง่าย

คําปฏิญาณของลูกเสือ

คําปฏิญาณของลูกเสือ 3 ข้อสำหรับ ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ รวมถึงเนตรนารีสามัญ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ และเนตรนารีวิสามัญ

ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

  • ข้อ 1. ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  • ข้อ 2. ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
  • ข้อ 3. ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

คำปฏิญาณของลูกเสือ 2 ข้อ สำหรับลูกเสือสำรองและเนตรนารีสำรอง ที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าตามอายุของลูกเสือสำรองที่อายุระหว่าง 8 ปี – 11 ปี

ข้าสัญญาว่า

  • ข้อ 1. ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  • ข้อ 2. ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรองและบำเพญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน 

กฎของลูกเสือ

กฎของลูกเสือ คือ หลักเกณฑ์การปฏิบัติตนของลูกเสือ เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม กฎของลูกเสือมีทั้งหมด 10 ข้อ ดังนี้

กฏของลูกเสือ 10 ข้อ สำหรับ ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ รวมถึงเนตรนารีสามัญ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ และเนตรนารีวิสามัญได้แก่

  • ข้อ 1. ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
  • ข้อ 2. ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ
  • ข้อ 3. ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น
  • ข้อ 4. ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก
  • ข้อ 5. ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
  • ข้อ 6. ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
  • ข้อ 7. ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
  • ข้อ 8. ลูกเสือมีใจร่าเริง และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
  • ข้อ 9. ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
  • ข้อ 10. ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ

กฏของลูกเสือ 2 ข้อ สำหรับลูกเสือสำรอง เช่นเดียวกันกับคําปฏิญาณของลูกเสือที่มีความซับซ้อนน้อยกว่าตามอายุของลูกเสือสำรองที่อายุระหว่าง 8 ปี – 11 ปี

  • ข้อ 1. ลูกเสือสำรองทำตามลูกเสือรุ่นพี่
  • ข้อ 2. ลูกเสือสำรองไม่ทำตามใจตนเอง 

โดยกฎของลูกเสือ 10 ข้อของไทยมีที่มาจากกฎของลูกเสือ (Scout Law) จากหนังสือ Scouting for Boys ในปี 1908 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้:

  • A Scout’s Honour Is to Be Trusted.
  • A Scout Is Loyal.
  • A Scout’s Duty Is to Be Useful and to Help Others.
  • A Scout Is a Friend to All, and a Brother to Every Other Scout, No Matter to What Social Class the Other Belongs.
  • A Scout Is Courteous.
  • A Scout Is a Friend to Animals.
  • A Scout Obeys Orders.
  • A Scout Smiles and Whistles.
  • A Scout Is Thrifty.

จะเห็นว่าแต่เดิมกฎของลูกเสือมีอยู่เพียงเก้าข้อเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามกฎของลูกเสือ (Scout Law) ได้มีการแก้ข้อความหลายครั้งโดย Baden-Powell ผู้ก่อตั้งลูกเสือ จนกระทั่งในปี 1911 ได้มีการเพิ่มกฎของลูกเสือข้อที่ 10 เข้ามา

  • A Scout Is Clean in Thought, Word and Deed.

คติพจน์ลูกเสือ

ลูกเสือสำรอง (Cub Scout) คติพจน์: ทำดีที่สุด (Do your best)

ลูกเสือสามัญ (Scout) คติพจน์: จงเตรียมพร้อม (Be prepared)

ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (Senior Scout) คติพจน์: มองไกล (Look wide)

ลูกเสือวิสามัญ (Rover) คติพจน์: บริการ (Service)

คำขวัญลูกเสือ

คำขวัญลูกเสือของไทยคือ เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ พระราชทานคำขวัญโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911)

กฎของเนตรนารี และ คําปฏิญาณของเนตรนารี

กฎของเนตรนารี 10 ข้อ และ คําปฏิญาณของเนตรนารี คือ กฎและคําปฏิญาณเดียวกันกับของลูกเสือ เนื่องจากในทางเทคนิคแล้ว ลูกเสือ หมายถึง เด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา เพียงแต่ลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกว่า เนตรนารี ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551

ดังนั้นแล้ว ทั้งกฎของเนตรนารี 10 ข้อ และ คำปฏิญาณของเนตรนารี ตลอดจนคติพจน์ คำขวัญ ไปจนถึงข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ จึงล้วนแต่ใช้ร่วมกันกับลูกเสือทั้งหมด (รวมถึงใช้คำว่า “ลูกเสือ” ในการกล่าวคําปฏิญาณและกฎ)

กล่าวคือ หากจะมองหาสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างลูกเสือและเนตรนารี มีเพียงเครื่องแบบเนตรนารีกับเครื่องแบบลูกเสือเท่านั้นที่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในระดับที่สามารถตระหนักถึงได้ในทันที