ลูกเสือวิสามัญ คืออะไร? รวมถึง เนตรนารีวิสามัญ และ ลูกเสือวิสามัญหญิง

เมื่อ

โดย

ลูกเสือวิสามัญ คือ อะไร เนตรนารีวิสามัญ คือ ลูกเสือวิสามัญหญิง

ลูกเสือวิสามัญ คือ เยาวชนชายและหญิงที่สมัครเข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตรวิชาลูกเสือวิสามัญ ซึ่งจะสมัครเข้าเป็น ลูกเสือวิสามัญ และ เนตรนารีวิสามัญ ได้เมื่อเยาวชนมีอายุระหว่าง 16-25 ปี หรือกําลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลาย หรือระดับอาชีวศึกษา หรือระดับอุดมศึกษา

ตามปกติ ลูกเสือวิสามัญ และ เนตรนารีวิสามัญ ที่พบได้บ่อยมักจะเป็นลูกเสือ-เนตรนารี ม.4 ม.5 ม.6 และในระดับ ปวช. ของสถานศึกษาที่จัดให้มีการเรียนการสอนวิชาลูกเสือวิสามัญ

ทั้งนี้ หากอ้างอิงจากข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือวิสามัญ ฉบับที่ 15 พ.ศ. 2529 ข้อ 1 การเข้าเป็นลูกเสือวิสามัญ เยาวชนที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือวิสามัญอาจจะเคยเป็นลูกเสือ หรือไม่เคยเป็นลูกเสือมาก่อนเลยก็ได้ โดยเยาวชนที่เป็นสตรี จะสมัครเป็นเนตรนารีวิสามัญหรือเป็นลูกเสือวิสามัญก็ได้

นอกจากนั้น ภายใต้ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือวิสามัญดังกล่าว ทุกแห่งที่มีคําว่าลูกเสือวิสามัญ ให้หมายความรวมถึงเนตรนารีวิสามัญด้วย

โดยชั้นของลูกเสือวิสามัญจะแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ดังนี้

  1. เตรียมลูกเสือวิสามัญ (Rover Squire) คือ ลูกเสือวิสามัญในระยะทดลอง
  2. ลูกเสือวิสามัญ (Rover Scout) คือ ลูกเสือวิสามัญที่ผ่านการเข้าพิธีประจำกองลูกเสือวิสามัญ

คุณสมบัติ เตรียมลูกเสือวิสามัญ

ก่อนที่จะรับเด็กเข้าเป็นเตรียมลูกเสือวิสามัญ ต้องพิจารณาคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. ได้รับความเห็นจากผู้กํากับกลุ่ม ผู้กํากับลูกเสือสามัญและจากกองลูกเสือวิสามัญนั้น
  2. ถ้าเป็นลูกเสือสามัญอยู่แล้ว ผู้กํากับลูกเสือสามัญเป็นผู้เสนอและรับรอง ถ้าเป็นลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ผู้กํากับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่หรือผู้กํากับลูกเสือสามัญเป็นผู้เสนอ และรับรองว่าเป็นผู้ตั้งใจปฏิบัติตามหลักการของลูกเสือ ตลอดจนการบําเพ็ญประโยชน์ด้วย แต่ถ้าไม่เคยเป็นลูกเสือสามัญหรือลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่มาก่อน ต้องรับรองว่าจะตั้งใจเรียนวิชาลูกเสือวิสามัญ นิยมชีวิตกลางแจ้งและยอมรับที่จะดําเนินชีวิตตามคําปฏิญาณและกฎของลูกเสือ
  3. เป็นผู้มีสุขภาพและอนามัยสมบูรณ์และมีอายุไม่น้อยกว่า 17 ปี
  4. เตรียมลูกเสือวิสามัญต้องมีอายุไม่เกิน 21 ปี ในวันรับสมัคร

เมื่อได้รับเด็กเข้ามาอยู่ในกองลูกเสือวิสามัญแล้วให้เรียกเตรียมลูกเสือวิสามัญ จนกว่าจะเข้าพิธีประจํากองแล้วจึงนับว่าเป็นลูกเสือวิสามัญ โดยเตรียมลูกเสือวิสามัญจะได้รับการฝึกอบรมตามที่กําหนดไว้ในหลักสูตร และในกรณีที่เตรียมลูกเสือวิสามัญที่ไม่เคยเป็นลูกเสือสามัญหรือลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่มาก่อนและมีความประสงค์จะแต่งเครื่องแบบและประดับเครื่องหมาย จะต้องผ่านการทดสอบวิชาลูกเสือตรีและได้ปฏิญาณตนแล้ว

เนตรนารีวิสามัญ คือ?

เนตรนารีวิสามัญ คือ ลูกเสือวิสามัญที่เป็นหญิง

หากอ้างอิงตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ในส่วนของนิยามเกี่ยวกับลูกเสือจะพบว่า ลูกเสือ (Scout) จะนับรวมทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือ เพียงแต่ลูกเสือหญิงจะกำหนดให้เรียกว่า “เนตรนารี” ในขณะที่หลักสูตรและวิชาพิเศษต่างๆ ของเนตรนารีวิสามัญจะไม่แตกต่างจากลูกเสือวิสามัญ โดยคำว่า “ลูกเสือหญิง” ในทางปฏิบัติมักจะหมายถึงลูกเสือหญิงในระดับผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

ในสถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนวิชาลูกเสือวิสามัญ ม.4 ม.5 ม.6 และในระดับ ปวช. ในแต่ละสถานศึกษาอาจกำหนดให้ผู้เรียนวิชาลูกเสือสามัญที่เป็นผู้หญิงแต่งเครื่องแบบเนตรนารีวิสามัญตามเหล่าของเนตรนารีที่กำหนด หรือ ชุดลูกเสือวิสามัญหญิง ตามที่สถานศึกษานั้นๆ กำหนด

ลูกเสือวิสามัญหญิง คือ?

ลูกเสือวิสามัญหญิง คือ ลูกเสือวิสามัญที่เป็นหญิง เนื่องจากข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติเยาวชนที่เป็นสตรี จะสมัครเป็นเนตรนารีวิสามัญหรือเป็นลูกเสือวิสามัญก็ได้

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติการแต่งเครื่องแบบลูกเสือวิสามัญหญิงแทนเนตรนารีวิสามัญมักจะเกิดขึ้นในกรณีที่สถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนวิชาลูกเสือวิสามัญ ม.4 ม.5 ม.6 และในระดับ ปวช. กำหนดให้ลูกเสือที่เป็นหญิงแต่เครื่องแบบในชุดลูกเสือวิสามัญหญิง ที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องแบบผู้บังคับบัญชาลูกเสือหญิงแทนการแต่งเครื่องแบบเนตรนารี

และในส่วนของหลักสูตรและวิชาพิเศษต่างๆ ของลูกเสือวิสามัญหญิงเองก็จะไม่แตกต่างจากหลักสูตรของลูกเสือวิสามัญ ตามที่อธิบายในหัวข้อเนตรนารีวิสามัญและในตอนต้น เนื่องจาก ลูกเสือวิสามัญ ให้หมายความรวมถึง เนตรนารีวิสามัญ ด้วยตามข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือวิสามัญ ฉบับที่ 15 พ.ศ. 2529

หลักสูตรลูกเสือวิสามัญ

หลักสูตรลูกเสือวิสามัญ และเนตรนารีวิสามัญ ในส่วนของการฝึกอบรมลูกเสือวิสามัญ และเนตรนารีวิสามัญ จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านผู้นำ การฝึกอบรมร่วมกันเป็นกอง การบริการชุมชน และการผจญภัย ตามคติพจของ ลูกเสือวิสามัญ คือ บริการ (Service)

โดยหลักสูตรลูกเสือวิสามัญที่ใช้ในการฝึกอบรมลูกเสือวิสามัญมี 4 อย่าง ดังนี้

(1) การฝึกอบรมร่วมกันทั้งกอง เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาลูกเสือวิสามัญในเรื่องสติปัญญา จิตใจ ศีลธรรม การสังคม และอื่น ๆ ควรมีการฝึกอบรมร่วมกันทั้งกอง โดยให้ลูกเสือวิสามัญและเตรียมลูกเสือวิสามัญทุกคน ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในวันประชุมประจำสัปดาห์ ตามที่คณะกรรมการประจำกองเป็นผู้วางแผนและกำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ด้วยความเห็นชอบของผู้กำกับและที่ประชุมลูกเสือวิสามัญ

  • ลูกเสือวิสามัญรวมทั้งเตรียมลูกเสือวิสามัญ ควรมีกำหนดการฝึกอบรมร่วมกันทั้งกองดังกล่าวข้างต้น คนละหนึ่งชุดพร้อมทั้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมประจำสัปดาห์ด้วย

(2) การฝึกอบรมเพื่อรับเครื่องหมายลูกเสือโลก สำหรับเตรียมลูกเสือวิสามัญ ซึ่งควรจะสอบได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันสมัคร

(3) การฝึกอบรมเพื่อรับเครื่องหมายวิชาพิเศษลูกเสือวิสามัญ สำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตร เครื่องหมายลูกเสือโลกมาแล้ว และได้เข้าพิธีประจำกองแล้ว

(4) ให้ถือว่าการรับหน้าที่ในคณะกรรมการประจำกองหรือพี่เลี้ยง เป็นการฝึกอบรมที่สำคัญส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมลูกเสือวิสามัญ

วิชาพิเศษลูกเสือวิสามัญ

วิชาพิเศษลูกเสือวิสามัญ คือ วิชาพิเศษ 12 วิชาที่ ลูกเสือวิสามัญ และ เนตรนารีวิสามัญ สามารถสอบได้ 11 วิชา นอกเหนือจากหลักสูตรลูกเสือวิสามัญที่เป็นพื้นฐาน

  1. วิชาการลูกเสือ
  2. วิชาเดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรม
  3. วิชาโครงการ
  4. วิชาบริการ
  5. วิชาผู้ฝึกสอน
  6. วิชายิงปืน
  7. วิชาศิลปประยุกต์
  8. วิชาปฐมพยาบาล
  9. วิชาอิเล็กทรอนิกส์
  10. วิชาสังคมสงเคราะห์
  11. วิชาขับรถยนต์
  12. เครื่องหมายวชิราวุธ

นอกจากนั้น เมื่อลูกเสือวิสามัญได้รับเครื่องหมายวิชาพิเศษลูกเสือวิสามัญอย่างน้อย 5 วิชา และผ่านการรับรองจากผู้กำกับลูกเสือวิสามัญจะได้รับสิทธิในการประดับเครื่องหมายวชิราวุธ

โดยการสอบ วิชาพิเศษลูกเสือวิสามัญ จากข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการปกครอง หลักสูตร และวิชาพิเศษลูกเสือวิสามัญ (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2529 ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ เสนอให้หัวหน้าสถานศึกษาหรือสโมสรลูกเสือเป็นผู้ดำเนินการสอบวิชาลูกเสือวิสามัญ โดยแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ดำเนินการสอบ และเมื่อดำเนินการสอบเครื่องหมายลูกเสือโลกหรือเครื่องหมายวิชาพิเศษแล้ว ให้รายงานเลขาธิการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ หรือผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด เพื่อพิจารณาอนุมัติและให้ประดับเครื่องหมายนั้นๆ

หมายเหตุ:

  • การสอบวิชาพิเศษ อาจทำในขณะที่ไปอยู่ค่ายพักแรม และจะจัดให้มีขึ้นปีละกี่ครั้งก็ได้
  • การสอบให้ดำเนินการตามรายละเอียดที่กำหนดไว้แต่ละวิชา โดยมุ่งถึงคุณภาพ และการปฏิบัติได้จริงจังเป็นสำคัญ เมื่อลูกเสือคนใดสอบได้ก็ให้กรรมการสอบลงนามรับรองในสมุดประจำตัวลูกเสือวิสามัญ (ล.ส.18) และเมื่อเสร็จสิ้นการสอบแล้วให้ผู้กำกับกรอกผลการสอบลงในทะเบียนกองลูกเสือวิสามัญ (ล.ส.9) ให้ตรงกัน
  • การสอบวิชาพิเศษนั้นไม่มีการเก็บผลไว้ ถ้าสอบไม่ได้ก็ให้สอบใหม่ทุกคราว