ลูกเสือจังหวัด และ คณะกรรมการลูกเสือจังหวัด

เมื่อ

โดย

ลูกเสือจังหวัด คณะกรรมการลูกเสือจังหวัด พรบ ลูกเสือ 2551

ลูกเสือจังหวัด คือ การจัดระเบียบการปกครองลูกเสือตามเขตจังหวัดตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ส่วนที่ 3 มาตรา 28 และสำหรับการจัดระเบียบการปกครองลูกเสือในกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายจัดตั้งเป็นรูปแบบพิเศษให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ให้มีคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด ประกอบด้วย

  1. ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ
  2. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดจังหวัด นายกเหล่ากาชาดจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายอำเภอ นายกเทศมนตรี นายกสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
  3. กรรมการประเภทผู้แทนจำนวนห้าคน ได้แก่ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนสถานศึกษาอาชีวศึกษา ผู้แทนค่ายลูกเสือจังหวัด ผู้แทนสมาคมหรือสโมสรลูกเสือ และผู้แทนจากลูกเสือชาวบ้านซึ่งเลือกกันเองกลุ่มละหนึ่งคน
  4. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบคน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งโดยคำแนะนำของกรรมการลูกเสือจังหวัดตาม 2. และ 3. ในจำนวนนี้จะต้องแต่งตั้งจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

โดยหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกกรรมการตาม 3. ให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

อำนาจหน้าที่คณะกรรมการลูกเสือจังหวัด

โดยคณะกรรมการลูกเสือจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตจังหวัด ดังต่อไปนี้

  1. ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือ
  3. สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ
  4. ควบคุมดูแลทรัพย์สินในกิจการของลูกเสือจังหวัด
  5. พิจารณาคำขอการจัดตั้งค่ายลูกเสือตามมาตรา ๓๒
  6. พิจารณารายงานประจำปีของสำนักงานลูกเสือจังหวัด
  7. ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการประจำปี
  8. ให้คำแนะนำผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาในการปฏิบัติงานลูกเสือ
  9. จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกิจการลูกเสือ
  10. ออกระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ เพื่อความเหมาะสมแก่การปกครองในจังหวัดซึ่งจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  11. จัดทำรายงานประจำปีและรายงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการลูกเสือในจังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  12. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดมอบหมาย
  13. ปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมอบหมาย

ทั้งนี้ การจัดตั้งค่ายลูกเสือในจังหวัดใดต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด และให้คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดรายงานต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติทราบ

การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 แบบสรุป