ชุดลูกเสือสำรอง เป็นเครื่องแบบของลูกเสือในช่วงวัยที่อายุน้อยที่สุดจากลูกเสือทั้ง 4 ประเภท ทำให้ชุดลูกเสือสำรองโดยส่วนใหญ่จะเป็นการแต่งกายลูกเสือสำรองประกอบชุดนักเรียนตามปกติ โดยเพิ่มหมวกลูกเสือสำรอง ผ้าผูกคอที่สวมห่วงวอกเกิ้ล (Woggle) และเข็มขัดลูกเสือ
อย่างไรก็ตาม การแต่งชุดลูกเสือสำรอง อาจมีการติดเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบลูกเสือสำรองตามที่แต่ละโรงเรียนกำหนด (ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน)
ดังนั้นแล้ว สำหรับผู้ปกครองที่กำลังมองหาชุดลูกเสือสำรอง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสอบถามจากทางโรงเรียนว่าการแต่งกายลูกเสือสำรองเป็นอย่างไร
เป็นเพียงการแต่งชุดนักเรียนประกอบหมวกลูกเสือสำรอง ผ้าผูกคอที่สวมห่วงวอกเกิ้ล และเข็มขัดลูกเสือเพียงเท่านั้น (ตามการแต่งกายชุดลูกเสือสำรองของเด็ก 2 คนในภาพปก) หรือ โรงเรียนกำหนดให้แต่งชุดลูกเสือสำรองโดยมีการติดเครื่องหมายประกอบชุดลูกเสือสำรอง อย่างเช่น เครื่องหมายประจำการ เครื่องหมายสังกัด เครื่องหมายหมู่ เครื่องหมายลูกเสือสำรอง เครื่องหมายเนตรนารีสำรอง เครื่องหมายจังหวัด ชื่อ/เลขกลุ่มและกอง หรือเครื่องหมายใดๆ เพิ่มหรือไม่
ทั้งนี้ หากดูจากกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ พ.ศ. 2510 จะเห็นว่าได้ระบุเอาไว้ว่า “ชนิดและสีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด” ในส่วนของเสื้อ กางเกง กระโปรง ถุงเท้า และรองเท้าของชุดลูกเสือสำรอง ทำให้การแต่งเครื่องแบบลูกเสือสำรองที่ถูกต้องจึงแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียนจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
ชุดลูกเสือสำรอง ชาย
(1) หมวกทรงกลมมีกะบังหน้าหมวกทำด้วยผ้าสีกรมท่า ตัวหมวกเย็บด้วยผ้า 6 ชิ้น แนวตะเข็บระหว่างชิ้นและขอบหมวกโดยรอบทาบด้วยด้ายหรือไหมถักสีเหลือง
- ชุดลูกเสือสำรองชาย เมื่อเข้าพิธีประจำกองแล้ว ประดับตราหน้าหมวกรูปหน้าเสือและอักษรใต้หน้าเสือว่า “ลูกเสือ” สีเหลืองบนผ้าสีกรมท่าขลิบริมสีกรมท่ารูปไข่ ยาว 4 เซนติเมตร กว้าง 3.5 เซนติเมตร
- ชุดลูกเสือสำรอง ป.1 ผู้ชาย ติดเครื่องหมายชั้น “ดาวดวงที่ 1” ที่หมวก
- ชุดลูกเสือสำรอง ป.2 ผู้ชาย ติดเครื่องหมายชั้น “ดาวดวงที่ 2” ที่หมวก
- ชุดลูกเสือสำรอง ป.3 ผู้ชาย ติดเครื่องหมายชั้น “ดาวดวงที่ 3” ที่หมวก
(2) เสื้อแขนสั้น แบบและสีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด เวลาแต่งชุดลูกเสือสำรองให้สอดชายเสื้ออยู่ภายในกางเกง
- ทั้งนี้ ในแต่ละโรงเรียนอาจมีการกำหนดให้ประดับเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบลูกเสือสำรองที่แตกต่างกันในแต่ละโรงเรียน
(3) ผ้าผูกคอรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านฐาน 90 เซนติเมตร ด้านตั้ง 65 เซนติเมตร สีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด และมีห่วงสวมผ้าผูกคอสำหรับลูกเสือ (วอกเกิ้ล : Woggle) ซึ่งไม่ใช่ห่วงกิลเวลล์
(4) กางเกงขาสั้น แบบและสีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด
(5) เข็มขัดหนังสีน้ำตาล กว้างไม่เกิน 3 เซนติเมตร หัวเข็มขัดชนิดหัวขัด หัวเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทอง มีลายดุนรูปตราคณะลูกเสือแห่งชาติภายในกรอบช่อชัยพฤกษ์
(6) ถุงเท้า ชนิดและสีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด
(7) รองเท้า ชนิดและสีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด
ชุดลูกเสือสำรอง หญิง
1) หมวกทรงกลมมีกะบังหน้าหมวกทำด้วยผ้าสีกรมท่า ตัวหมวกเย็บด้วยผ้า 6 ชิ้น แนวตะเข็บระหว่างชิ้นและขอบหมวกโดยรอบทาบด้วยด้ายหรือไหมถักสีเหลือง
- เมื่อเข้าพิธีประจำกองแล้ว ให้ประดับตราหน้าหมวกรูปตราเนตรนารีทำจากโลหะ
- ชุดลูกเสือสำรอง ป.1 ผู้หญิง ติดเครื่องหมายชั้น “ดาวดวงที่ 1” ที่หน้าหมวก
- ชุดลูกเสือสำรอง ป.2 ผู้หญิง ติดเครื่องหมายชั้น “ดาวดวงที่ 2” ที่หน้าหมวก
- ชุดลูกเสือสำรอง ป.3 ผู้หญิง ติดเครื่องหมายชั้น “ดาวดวงที่ 3” ที่หน้าหมวก
(2) เสื้อแขนสั้น แบบและสีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด เวลาแต่งชุดลูกเสือสำรองให้สอดชายเสื้ออยู่ภายในกระโปรง
- ทั้งนี้ ในแต่ละโรงเรียนอาจมีการกำหนดให้ประดับเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบลูกเสือสำรองที่แตกต่างกันในแต่ละโรงเรียน
(3) ผ้าผูกคอรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านฐาน 90 เซนติเมตร ด้านตั้ง 65 เซนติเมตร สีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด และมีห่วงสวมผ้าผูกคอสำหรับเนตรนารี (วอกเกิ้ล : Woggle) ซึ่งไม่ใช่ห่วงกิลเวลล์
(4) กระโปรง แบบและสีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด
(5) ถุงเท้า ชนิดและสีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด
(6) รองเท้า ชนิดและสีตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละโรงเรียนกำหนด
หมายเหตุ: ชุดเนตรนารีสำรองหรือชุดลูกเสือสำรองหญิงโดยทั่วไป “ไม่มีเข็มขัด”