จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อโลกอยู่ในตำแหน่งกลางระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ซึ่งทำให้ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงาของโลก ทำให้เราที่อยู่บนโลกมองเห็นดวงจันทร์ค่อยๆ แหว่งมากขึ้นจนหมดลับดวงและโผล่กลับขึ้นมาอีกครั้ง
การเกิดจันทรุปราคาจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ หรือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์จันทรุปราคาไม่สามารถเกิดขึ้นทุกเดือน เนื่องจากระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และระนาบที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกไม่ใช่ระนาบเดียวกันหากตัดกันเป็นมุม 5 องศา ทั้งหมดส่งผลให้ในแต่ละปีมีโอกาสเพียงปีละ 1-2 ครั้งที่จะมีจันทรุปราคาเกิดขึ้น และมองเห็นจากที่ไทยได้เพียง 1 ครั้งต่อปี
อย่างไรก็ตาม จันทรุปราคาสามารถเห็นได้จากทุกที่ในฝั่งกลางคืนของโลก แตกต่างจากสุริยุปราคาที่สามารถมองเห็นได้จากพื้นที่ค่อนข้างเล็กของโลก อีกทั้งจันทรุปราคายังกินเวลาเป็นชั่วโมง ขณะที่สุริยุปราคาเต็มดวงกินเวลาเพียงไม่กี่นาทีในแต่ละพื้นที่ที่มองเห็น ซึ่งเป็นเพราะเงาจากดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่า ตลอดจนคุณสามารถมองจันทรุปราคาได้โดยไม่ต้องมีสิ่งป้องกันดวงตาหรือการป้องกันเป็นพิเศษ เพราะมืดกว่าจันทร์เพ็ญ
จันทรุปราคา (Lunar Eclipse) รู้จักกันในอีกชื่อคือ “จันทรคราส” และคนสมัยโบราณเรียกว่า “ราหูอมจันทร์”
จันทรุปราคามีกี่แบบ?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเงาของโลกที่ทอดไปในอวกาศสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เงามัว (Penumbra Shadow) เป็นเงาส่วนนอกสุดที่เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะมีความสว่างลดลงเล็กน้อย และเงามืด (Umbra Shadow) เป็นเงาที่มืดสนิท
เมื่อดวงจันทร์เข้ามาอยู่ในเงาส่วนนี้จะทำให้เกิดส่วนมืดเว้าแหว่ง จึงแบ่งประเภทของปรากฏการณ์จันทรุปราคาออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้ดังนี้
- จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด ทำให้ดวงจันทร์ยังคงมองเห็นเต็มดวง แต่ความสว่างจะลดลงเล็กน้อย ซึ่งอาจสังเกตได้ยาก
- จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน ทำให้มองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปบางส่วน
- จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงามืดของโลกทั้งดวง ทำให้มองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐ หรือที่เรียกว่า “พระจันทร์สีเลือด”
นอกจากนั้น ยังมีจันทรุปราคาแบบอื่นๆ ที่พบได้น้อยกว่า เช่น จันทรุปราคาแบบกึ่งกลาง (Central Lunar Eclipse) และ ซีลินิเลียน (Selenelion) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่กำลังเกิดจันทรุปราคาได้พร้อมกัน
จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse)
จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral Lunar Eclipse) คือ จันทรุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามัวของโลก โดยไม่ผ่านเงามืด ซึ่งเป็นเงาที่มีความสว่างมากกว่าเงามืดและมองเห็นได้ไม่ชัดเจน
ทำให้ดวงจันทร์ยังคงมองเห็นเต็มดวง แต่ความสว่างจะลดลงเล็กน้อย ซึ่งยิ่งพื้นผิวของดวงจันทร์เข้าไปในเงามัวไม่มากนักจะยิ่งทำให้สังเกตจันทรุปราคาเงามัวที่กำลังเกิดขึ้นได้ยาก
จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse)
จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) คือ จันทรุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดของโลกเพียงบางส่วน ทำให้มองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปบางส่วน
จันทรุปราคาบางส่วนสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าจันทรุปราคาเต็มดวง ทำให้จันทรุปราคาบางส่วนมักเกิดขึ้นได้บ่อยถึงปีละมากกว่า 2 ครั้ง และเงาที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวของดวงจันทร์ที่เกิดจันทรุปราคาบางส่วนอาจปรากฏเป็นสีแดงสนิมไปจนถึงสีเทาคล้ายเถ้าถ่าน ขึ้นอยู่กับองศาของการเกิดจันทรุปราคาในครั้งนั้นๆ
จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse)
จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) คือ จันทรุปราคาที่เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงามืดของโลกทั้งดวง
การที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าไปในเงามืดของโลกทั้งดวงจะส่งผลให้มองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐ หรือที่เรียกว่า “พระจันทร์สีเลือด” เนื่องจากแสงขาวจากดวงอาทิตย์จะถูกหักเหเมื่อผ่านชั้นบรรยากาศโลก สีแดงและสีส้มเบี่ยงทิศทางเข้าหากลางเงามืด จึงมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงระหว่างเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
อ้างอิงจาก – จันทรุปราคา : ชมปรากฏการณ์ตื่นตา “จันทรุปราคาเต็มดวง” คืนวันลอยกระทง (BBC) และ จันทรุปราคา (Wikipedia)