พิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ และการสำรวจตัวเองของลูกเสือวิสามัญ เป็นกระบวนการตามข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการปกครองหลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509 ข้อ 297 และ 29
ในการสำรวจตัวเองของลูกเสือวิสามัญโดยส่วนมากจะกระทำก่อนทำพิธีเข้าประจำกองหรือจะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเข้าประจำกองก็ได้ เพราะในทางปฏิบัติเมื่อเตรียมลูกเสือวิสามัญได้ผ่านหลักสูตรเตรียมลูกเสือวิสามัญมาแล้ว และสมัครใจที่จะเป็นลูกเสือวิสามัญ ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญก็จะกระทำพิธีเข้าประจำกองให้แก่ลูกเสือวิสามัญนั้นๆ
ซึ่งก่อนที่จะทำพิธีเข้าประจำกองนั้น ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญจะให้เตรียมลูกเสือวิสามัญทำการสำรวจตัวเองก่อน โดยผู้กำกับลูกเสือวิสามัญจะนัดหมายให้เตรียมลูกเสือวิสามัญมาพร้อมกัน ส่วนมากจะกระทำในตอนกลางคืน ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติตามลำดับดังต่อไปนี้
พิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
- การสำรวจตัวเองของผู้ที่จะเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ
- พิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ
โดยในการจัดเตรียมวัสดุ/อุปกรณ์ในการสำรวจตัวเองและพิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ จะประกอบด้วย
- พระพุทธรูป ชุดโต๊ะหมู่บูชา (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์)
- พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
- เครื่องทองน้อย
- โต๊ะผู้กล่าวปราศรัย (ปูผ้าขาว) และเก้าอี้
- เชิงเทียนพร้อมเทียน ขนาดเหมาะสม (ตั้งไว้บนโต๊ะกล่าวปราศรัย)
- ข้อความกล่าวปราศรัย (คำชี้แจง, คำปราศรัยเกาะแก่งแห่งชีวิต)
- โคมไฟผู้นำเดินกฎ พร้อมไฟฉาย
- ไฟฉาย / โคมไฟ / ตะเกียง / อื่นๆ ตามความเหมาะสม
- แผ่นข้อความกฎ – สรุป
- ป้ายกฎข้อ 1-10 และป้ายสรุปกฎ
- โคมไฟสำหรับวาง / แขวนใต้ป้าย 11 จุด พร้อมเทียนและไฟแช็ก
- โต๊ะพิธีสำรวจตัวเอง ขนาดเหมาะสม (ปูด้วยผ้าขาว)
- พานทองใหญ่ ใส่แบบสำรวจตนเองตามจำนวนผู้พิจารณา (ตั้งไว้บนโต๊ะสำรวจฯ)
- พานทองเล็ก ใส่เทียนขาวหนัก 1 บาท ตามจำนวนผู้พิจารณา (ตั้งไว้บนโต๊ะสำรวจฯ)
- เชิงเทียนพร้อมเทียนขาว (ตั้งไว้บนโต๊ะสำรวจฯ)
- โต๊ะพิธี (ปูด้วยผ้าขาว)
- ธงชาติไทย (ปูโต๊ะพิธี)
- พานทองใหญ่ ใส่แถบสามสี (ตั้งไว้บนโต๊ะพิธี)
- ขันใหญ่ใส่น้ำ – หินหรือก้อนกรวดสีขาว หรือลูกแก้วใส ขนาดเหมาะสม ตามจำนวนผู้เข้าประจำกอง (ตั้งไว้บนโต๊ะพิธี)
- เชิงเทียนสูง พร้อมเทียน (ตั้งไว้บนโต๊ะพิธี)
- เชิงเทียนสูง พร้อมเทียนขนาดเหมาะสม (ตั้งไว้บนโต๊ะพิธี)
- ผ้าขนหนูสีขาว ขนาดเหมาะสม สำหรับซับมือ (ตั้งไว้บนโต๊ะพิธี)
- แท่นกล่าวของประธาน
- โคมไฟ พร้อมเทียน (ตั้งไว้บนแท่นกล่าวฯ)
- ข้อความ ถาม – ตอบ พิธีประจำกอง (ตั้งไว้บนแท่นกล่าวฯ)
- ข้อความกล่าวให้โอวาท
- ธงประจำกองลูกเสือวิสามัญพร้อมคันธง
- ธงชาติไทย พร้อมคันธงสูง 2 เมตร 2 ชุด
ลำดับขั้นตอนพิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ
ในภาพรวม ลำดับขั้นตอนพิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ ประกอบด้วย 7 ลำดับดังนี้
- การกล่าวชี้แจง
- การกล่าวปราศรัยก่อนออกเดินทางสู่การสำรวจตัวเองและพิธีเข้าประจ ากอง
- การเดินกฎลูกเสือ
- สรุปกฎลูกเสือ 10 ข้อ ลูกเสือวิสามัญ
- การสำรวจตัวเอง
- พิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ
- กล่าวให้โอวาท
การกล่าวชี้แจง
เมื่อเตรียมลูกเสือวิสามัญได้เข้านั่งที่พร้อมกันแล้ว ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญจะกล่าวชี้แจงเป็นใจความว่า “พิธีการสำรวจตัวเองของผู้ที่จะเป็นลูกเสือวิสามัญ ก่อนที่จะถึงพิธีเข้าประจำกอง ถือว่าเป็นพิธีการที่สำคัญยิ่งและมีความหมายอย่างมาก โดยเฉพาะแก่ชีวิตในอนาคตของผู้ที่จะเป็นลูกเสือวิสามัญ จึงใคร่ขอร้องพี่น้องลูกเสือโปรดให้ความร่วมมือ ให้ความสนใจ และช่วยทำให้พิธีนี้เป็นพิธีที่สำคัญและมีความหมายอย่างจริงจังด้วยขออย่าได้หัวเราะ อย่าพูดคุยหรือส่งเสียงล้อเลียนกันแต่ประการใด ใช้สติอยู่กับสมาชิกแน่วแน่ มั่นคงคิดพิจารณา อย่างละเอียดรอบคอบขอให้ท่านเดินทางไปสู่ความสำเร็จ ด้วยความสงบเงียบ”
การกล่าวปราศรัย
ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญกล่าวปราศรัยก่อนออกเดินทางสู่การสำรวจตัวเองและพิธีเข้าประจำกอง
ต่อจากนั้น ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ กล่าวปราศรัย ชี้ให้ลูกเสือได้มองเห็นอบายมุขต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตที่มีอยู่โดยรอบ โดยยกตัวอย่าง สุรา นารี ภาชี กีฬาบัตร ดังแนวการกล่าว ต่อไปนี้
“พี่น้องลูกเสือทั้งหลาย” “ท่านทราบอยู่แล้วเป็นอย่างดีว่าในการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น วิถีแห่งชีวิตย่อมแตกต่างกัน และมิได้เป็นไปอย่างราบรื่นประดุจดังหนึ่งเดินอยู่บนพรมสีแดงโรยด้วยกลีบกุหลาบอันสวยงามตลอดไป ชีวิตคนเราจะประสบด้วยอุปสรรคนานาประการ มากบ้างน้อยบ้าง เสมือนเกาะแก่งที่มีอยู่ในแม่น้ำลำคลอง ขัดขวางมิให้น้ำไหลลงไปได้โดยสะดวก ในชีวิตคนเรา อุปสรรคบางอย่างจะบั่นทอนชักนำชีวิตบุคคลไปในทางที่ผิดที่ชั่วร้าย ท่านเรียกอุปสรรค เช่นนี้ว่า อบายมุข อบายมุขที่สำคัญนั้นมี 4 ประการด้วยกัน
กล่าวคือ สุรา นารี ภาชี กีฬาบัตร แต่ปัจจุบันนี้เหตุการณ์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย สิ่งที่จะทำให้ชีวิตคนเรา โดยเฉพาะคนวัยรุ่นหนุ่มสาวก้าวลงไปสู่ความหายนะ ห้วงเหวที่ต่ำนั้นมีเพิ่มขึ้นมากมาย อาทิ ยาเสพติด โรงบิลเลียด สถานเริงรมย์สำหรับเที่ยวกลางคืนมี บาร์ ไนต์คลับ คอฟฟี่ช็อป สถานอาบอบนวด โรงแรมม่านรูด ผู้คนที่มีจิตใจทรามเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เห็นแก่ได้ มีแต่คนเก่งแต่ปาก เก่งแต่พูด งานไม่ทำ ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น”
“ใคร่จะกล่าวถึงโทษของอุปสรรคหรือเกาะแก่งแห่งชีวิตเหล่านี้ ให้พี่น้องลูกเสือได้ฟังเพื่อเป็นคติเตือนใจบ้าง ดังต่อไปนี้”
สุรา “การดื่มสุราได้มีมานานก่อนพุทธกาล บรรดาผู้นำของศาสนาทั้งหลายในโลกได้มองเห็นโทษของการดื่มสุรา จึงได้บัญญัติเป็นข้อห้าม ข้อเตือนใจ ให้ละเว้นการเสพสุราและเครื่องดองของเมา แต่ก็ยังมีการดื่มสุรามาจนถึงทุกวันนี้ แม้แต่ในการเลี้ยงซึ่งทางราชการเป็นผู้จัดก็มีการเลี้ยงสุรากันอยู่เสมอ เมื่อมิอาจห้ามดื่มสุราได้ และบางครั้งบางคนอาจจำใจดื่มสุรา ก็พึงสำนึกถึงโทษของสุราไว้เสมอ โทษของการดื่มสุราและเครื่องดองของเมา ท่านบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้ คือทำให้เสียทรัพย์ ก่อให้เกิดการวิวาท เกิดโรค ถูกตำหนิติเตียน หน้าด้าน ไม่รู้จักอาย บั่นทอนสุขภาพ กำลัง สติปัญญา”
นารี “ต่อไปจะได้กล่าวถึงนารี หรือความสำส่อนทางเพศ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนวัยหนุ่มสาวเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เมื่อคนวัยรุ่นหนุ่มสาว ย่างเข้าสู่ภาวะการเป็นหนุ่มสาว ความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาตินี้จะผลักดันให้หนุ่มสาววิ่งเข้าหากันเพื่อประสบความพอใจในเพศสัมพันธ์ แต่ศีลธรรมและประเพณีบังคับมิให้มนุษย์กระทำเยี่ยงสัตว์ได้ ความต้องการทางเพศมิใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต การขาดความสัมพันธ์ทางเพศมิได้ทำให้คนถึงตาย เช่นเดียวกับคนที่อดข้าว คนวัยหนุ่มสาวควรฝึกหัดข่มใจตนเอง มีความหนักแน่น อดทน หาทางระบายความรู้สึกนี้ไปใช้ในทางที่ดี มีประโยชน์แก่ชีวิตของตน เช่น ในการทำงาน การคิดสร้างสรรค์ งานศิลปะ และการกีฬาเป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยทำให้ความรู้สึกทางเพศลดน้อยลง สมัยนี้ชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมาก สถานเริงรมย์ สถานอาบอบนวด โรงแรมม่านรูด ได้มีในเมืองใหญ่ ๆ เมืองละหลายแห่ง คนวัยรุ่นหนุ่มพากันไปเที่ยวหาความสำราญในสถานที่เหล่านี้การไปหาความสำราญในสถานที่เหล่านี้ต้องใช้เงินทองมาก ปัญหามีว่าคนวัยรุ่นหนุ่มเหล่านี้ซึ่งเป็นคนในวัยเรียนจะเอาเงินมาก ๆ เช่นนั้นมาจากไหน นี่คือเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมซึ่งจะทำให้เกิดโรค ทำให้เสียทรัพย์ เสียเวลา และสุขภาพเสื่อมโทรม กามโรคเป็นโรคร้ายแรง อาจติดต่อไปถึงผู้อื่นได้ ถ้าผู้ที่มีครอบครัวแล้ว ก็อาจติดต่อไปถึงลูกเมียและครอบครัวได้ หากเป็นมากถึงขั้นขึ้นสมองจะทำให้ผู้นั้นเป็นคนพิการได้”
ภาชี “การเที่ยวในยามวิกาล คืออะไรนั้น ท่านคงทราบเป็นอย่างดี แต่เพื่อเพิ่มเติมความเข้าใจอันดี ขอนำคำสอนที่ท่านศาสดา กำหนดความหมายของการเที่ยวยามวิกาลมาเป็นอุทาหรณ์ ท่านว่ามีรำที่ไหนไปที่นั่นขับร้องที่ไหนไปที่นั่น ดีดสีตีเป่าที่ไหนไปที่นั่น ดนตรีที่ไหนไปที่นั้น เพลงที่ไหนไปที่นั่น สนุกที่ไหนไปที่นั่น ซึ่งพอสรุปได้ว่า ไปเที่ยวกันแทบไม่มีเวลาทำมาหากิน ท่านจึงได้บัญญัติโทษของการเที่ยวยามวิกาลไว้ว่า ทำให้ได้ชื่อว่า ไม่รักษาตัว ทำให้ได้ชื่อว่าไม่รักลูกเมีย ไม่รักครอบครัว ไม่รู้จักรักษาทรัพย์ เป็นที่ระแวงของคนทั้งหลายมักถูกใส่ความและได้รับความลำบาก”
กีฬาบัตร “การเล่นการพนันมีโทษมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อชนะย่อมก่อเวร เมื่อแพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป ทรัพย์ย่อมฉิบหาย ไม่มีใครเชื่อถ้อยคำ เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อน การเล่นการพนันนั้นนำมาซึ่งความพินาศแก่ทรัพย์สินที่มีอยู่ทุกชนิดมีคำกล่าวว่าถูกไฟไหม้ 10 ครั้ง ยังไม่ร้ายแรงเท่ากับการเสียพนันเพราะเมื่อไฟไหม้บ้าน ที่ดินยังอยู่เป็นของเรา เราอาจปลูกบ้านใหม่อยู่ได้ แต่ถ้าเราแพ้การพนัน เราอาจเสียทั้งบ้านทั้งที่ดินก็ได้ ฉะนั้น จึงนับว่าการเล่นการพนันนั้น นำมาซึ่งความเสียหายอย่างยิ่ง”
ยาเสพติด “ยาเสพติดอบายมุขอย่างหนึ่งที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพ อนามัย ขณะนี้กำลังระบาดอยู่ในหมู่คนวัยรุ่นหนุ่มสาวมากมาย ยาเสพติดมีหลายชนิด ที่รู้จักกันทั่วไปคือ เฮโรอีน แหล่งผลิตเฮโรอีนมาจากสามเหลี่ยมทองคำ เดินทางผ่านประเทศไทย เพื่อส่งไปขายต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง เฮโรอีนมีราคาแพงมาก และหาซื้อได้ยากเข้าทุกที เพราะทางราชการปราบปรามอย่างเข้มแข็ง คนวัยรุ่นหนุ่มสาวหันไปหาทินเนอร์ น้ำมันผสมสี ยาบ้า ยาไอซ์ ยาอี ฝิ่น กัญชา ฯลฯ ทำให้มีอันตรายมากยิ่งขึ้น ร่างกายอ่อนแอ เป็นการบั่นทอนพลังของชาติโดยทางอ้อม คนวัยรุ่นหนุ่ม-สาวได้เงินจากไหนมาซื้อยาเสพติดเหล่านี้ คงไม่มีปัญญา ต้องไปลักขโมยใครมาเป็นแน่ เหตุของการติดยายาเสพติดมักเกิดจากการคบเพื่อนเสเพล เขาชวนให้ลองครั้งสองครั้ง โดยเขาซื้อให้ลอง ไม่ช้าก็ติด เมื่อติดแล้วรักษาให้หายได้ยาก อนาคตของชีวิตจะหมดไป”
คนดีแต่พูด คนเห็นแก่ได้ “คนดีแต่พูดนั้น อาจทำให้เราหลงทำอะไรตามเขาได้หลายอย่าง เขาเป็นคนช่างพูด แต่เขาพูดเพื่อหาประโยชน์ของเขาเอง คนอย่างนี้มีอันตรายมาก เพราะเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว ไม่คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น ไม่เห็นใจผู้อื่น”… “ ขอจบคำปราศรัยแต่เพียงนี้”
“ต่อจากนี้ นาย…….. (ผู้กำกับ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากผู้กำกับ) จะนำท่านเดินทางไปสู่สถานที่สำรวจตัวเอง ขอให้ท่านเดินทางไปด้วยความสงบเงียบ และทำใจให้ผ่องใส”
การเดินกฎลูกเสือ
การเดินกฎลูกเสือ คือ การออกเดินสู่พิธีสำรวจตัวเอง โดยการนำเตรียมลูกเสือวิสามัญไปยังที่จะทำการสำรวจตัวเอง และก่อนจะถึงสถานที่สำรวจตัวเองนั้นจะผ่านจุดต่างๆ 11 จุด แต่ละจุดจะมีผู้บังคับบัญชาลูกเสือวิสามัญอ่าน กฎของลูกเสือ 10 ข้อ และมีการอธิบายความหมายสั้นๆ ให้ฟังในแต่ละข้อ จนถึงจุดที่ 11 เป็นจุดที่กล่าวสรุปกฎของลูกเสือ 10 ข้อ
คำกล่าวตามจุด หรือฐานของกฎลูกเสือ 11 ฐาน
ข้อ 1. ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
“ลูกเสือที่แท้จริงถือว่าเกียรติของเขาสำคัญกว่าสิ่งใด เกียรติของเขาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนที่รู้จักรักษาเกียรติ เป็นผู้เชื่อถือได้เสมอ เขาจะไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เสียเกียรติ เช่น พูดเท็จกับผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้างหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของเขา และเขาจะทำตัวให้เป็นที่นับถือของคนทั่วไป ในฐานะที่เป็นลูกเสือวิสามัญท่านต้องไม่ยอมให้สิ่งยั่วยวนใจไม่ว่าจะลึกลับหรือรุนแรงเพียงไรมาชักจูงให้ท่านกระทำการใด ๆ ที่ไม่สุจริตหรือเป็นที่น่าสงสัย ท่านจะไม่ละเมิดคำมั่นสัญญาเป็นอันขาด”
ข้อ 2. ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ
“ในฐานะเป็นพลเมืองดี ท่านจะต้องระลึกเสมอว่าท่านเป็นหนึ่งในคณะ หรือเป็นอิฐก้อนหนึ่งในกำแพง ท่านจะต้องทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด และซื่อตรงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับท่าน เช่น พ่อ แม่ พี่น้องนายจ้าง และลูกจ้างของท่าน ท่านจะต้องไม่ทำลายเกียรติของท่านด้วยการเล่นไม่ซื่อ นอกจากนั้น ท่านต้องไม่ทำให้ผู้ที่ไว้วางใจท่าน ไม่ว่าชายหรือหญิงต้องผิดหวัง บรรพบุรุษของท่านได้ทำงานด้วยความเข้มแข็งรบด้วยความทรหด และตายด้วยความองอาจเพื่อรักษาบ้านเมืองไว้ให้ท่าน ขออย่าให้บรรพบุรุษของท่านมองลงมาจากสวรรค์แลเห็นท่านเที่ยวเตร่ เอามือใส่กระเป๋าโดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเพื่อบ้านเมืองเลยจงแสดงบทบาทของท่านแต่ละคนตามตำแหน่งของตนและเล่นด้วยน้ำใจนักกีฬา”
ข้อ 3. ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น
“ลูกเสือจะพยายามให้ความเมตตากรุณา เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนอยู่เสมอ ความคิดเห็นของเขามีว่าคนทุกคนต้องตาย แต่ท่านควรจะทำใจของท่านว่าก่อนเวลาจากโลกนี้เป็นไปตามวิถีทางของธรรมชาติท่านควรจะทำความดีบ้าง ฉะนั้น จงทำทันทีเพราะท่านไม่รู้เลยว่าเมื่อใดท่านจะต้องล่วงลับไป”
ข้อ 4. ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก
“ในฐานะที่เป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านจะต้องยอมรับรู้ว่าผู้อื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ และท่านต้องไม่รังเกียจความแตกต่างในเรื่องความคิด วรรณะ ศาสนา หรือชาติบ้านเมือง ท่านต้องขจัดอคติของท่านและมองจุดดี ของคนอื่น ส่วนจุดชั่วนั้นคนโง่ก็ย่อมวิจารณ์ได้ ถ้าท่านแสดงไมตรีจิตต่อคนชาติอื่นได้เช่นนี้ ก็นับว่าท่านได้ช่วยก่อให้เกิดสันติภาพและไมตรีจิตระหว่างประเทศและมวลมนุษยชาติได้”
ข้อ 5. ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
“ในฐานะที่ท่านเป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านจะต้องสุภาพและคำนึงถึงผู้หญิง ผู้อ่อนแอ คนชรา เด็กและบุคคลทั่ว ๆ ไป แต่ยิ่งกว่านั้น ท่านจะต้องสุภาพต่อฝ่ายตรงข้ามกับท่านด้วย รวมความว่าท่านจะต้องเป็นผู้สุภาพ…….ผู้สุภาพ คือผู้ปฏิบัติตามกฎแห่งการบำเพ็ญประโยชน์ของลูกเสือ”
ข้อ 6. ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
“สัตว์ทั้งหลาย มีความรัก และความหวงแหนชีวิตตนยิ่งกว่าสิ่งใด ต่างก็ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดและปลอดภัยจากอันตราย ทุกชีวิตปรารถนาความสุข ความรัก ความอบอุ่น และการช่วยเหลือเกื้อกูลแต่เกลียดกลัวและหวาดระแวงต่อการล่วงเกิน เบียดเบียน และทำร้าย ภารกิจอันสำคัญที่สุดของลูกเสือวิสามัญคือการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์และการบริการแก่ผู้อื่นให้ได้รับความสุข ดังนั้น ลูกเสือวิสามัญทุกคนจึงควรจะเป็นผู้ที่มีความรักและความเมตตากรุณาต่อสัตว์ด้วย”
ข้อ 7. ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
“ในฐานะที่เป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านย่อมบังคับตนเองและเต็มใจเชื่อฟังคำสั่งของพ่อแม่ ครู อาจารย์นายหมู่และผู้กำกับลูกเสือโดยชอบด้วยเหตุผล ไม่มีการโต้แย้ง ชุมชนที่มีวินัยดีเป็นชุมชนที่มีความสุขที่สุดแต่วินัยต้องเกิดมาจากภายใน มิใช่ถูกบังคับจากภายนอก ดังนั้น การปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก”
ข้อ 8. ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
“ในฐานะเป็นลูกเสือวิสามัญ คนอื่น ๆ จะคอยมองดูท่านและคิดอยู่เสมอว่าท่านคงจะไม่หัวเสีย และจะยืนหยัดต่อสู้ด้วยความเข้มแข็งและร่าเริงอดทน ในเมื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น”
ข้อ 9. ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
“ในฐานะท่านเป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านจะมองไปข้างหน้าและไม่ยอมเสียเวลา หรือเสียเงินสำหรับความสุขสำราญในปัจจุบัน แต่จะใช้โอกาสนั้น เพื่อให้ได้บรรลุความสำเร็จในหน้าที่ที่ท่านกระทำ ทั้งนี้เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องเป็นภาระแก่ผู้อื่น แต่กลับจะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย”
ข้อ 10. ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
“ในฐานะที่ท่านเป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านต้องมีใจสะอาด คิดแต่เรื่องที่เป็นมงคล สามารถควบคุมสติและจิตใจตนเองไม่ให้ฟุ้งซ่านใน รูป – รส – กลิ่น – เสียง – สัมผัส และของมึนเมาจนเกินกว่าเหตุ ท่านต้องเป็นตัวของตัวเอง และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านคิด-พูด และกระทำ”
หมายเหตุ : ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ หรือรองผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ คนหนึ่งจะเป็นผู้พากองลูกเสือออกเดินทางไปในระหว่างความมืด ซึ่งเปรียบเสมือนผ่านวิถีทางแห่งชีวิตลูกเสือ โดยเรียกแถวลูกเสือเป็นรูปแถวตอน เมื่อเรียบร้อยแล้วผู้กำกับลูกเสือวิสามัญหรือรองผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ ถือไฟฉายเดินนำแถวลูกเสือไปช้าๆ ทุกคนอยู่ในความสงบ ไม่พูด คุย และเดินตามผู้กำกับลูกเสือวิสามัญหรือรองผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ ไป เมื่อถึงกฎลูกเสือข้อที่ 1 ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ หรือรองผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ ก็จะหยุดเดิน เตรียมลูกเสือวิสามัญก็หยุดเดิน และก้มหน้า (ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ หรือรองผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ ให้สัญญาณด้วยไฟฉายแก่ผู้ประจำฐานซึ่งซ่อนตัวอยู่อ่านข้อความของกฎลูกเสือ เมื่อจบข้อความแล้วผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ หรือรองผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ ที่นำแถว ให้เตรียมลูกเสือวิสามัเงยหน้าขึ้น และเดินตามต่อไปเป็นช่วงๆ เช่นนี้จนถึงฐานที่ 11 สรุปกฎ
สรุปกฎลูกเสือ 10 ข้อ ลูกเสือวิสามัญ
“ในฐานะที่ท่านเป็นลูกเสือวิสามัญ ท่านต้องจำไว้ว่าการข้ามจากความเป็นเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ นั้นท่านมิได้เป็นแต่เพียงเรียนรู้ในการปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ แต่ท่านกำลังใช้กฎของลูกเสือนั้นสำหรับปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของท่าน ในปัจจุบันท่านอยู่ในฐานะรับผิดชอบที่จะเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น และชักนำเขาเหล่านั้นให้ไปในทางที่ดี หรือทางชั่วก็ได้ ถ้าท่านปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ ท่านก็ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ถ้าท่านไม่ปฏิบัติเช่นนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าท่านจะเป็นบ่อเกิดแห่งความชั่วร้ายและชักนำผู้อื่นไปทางที่ผิด”
การสำรวจตัวเอง
เมื่อครบทั้ง 11 ฐาน จะถึงบริเวณพิธี การสำรวจตัวเอง ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ จะเข้าไปจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย เตรียมลูกเสือวิสามัญยืนพนมมือ (หรือปฏิบัติตามศาสนพิธีของศาสนานั้นๆ) จากนั้นผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ มอบใบสำรวจตัวเอง เทียน และจุดเทียนเพื่อส่งต่อ จากนั้นให้เตรียมลูกเสือวิสามัญหยิบใบสำรวจตัวเองและแยกไปหาที่นั่ง ณ จุดใด จุดหนึ่ง ห่างๆ กันเพื่อพิจารณาตนเองตามแบบสำรวจตัวเอง หากมีข้อใดที่ไม่อาจปฏิบัติได้ หรือยากแก่การปฏิบัติ ให้พิจารณาตัวเองในข้อนั้นนานๆ อีกครั้งหนึ่ง หากยังถือปฏิบัติไม่ได้เช่นเดิม ลูกเสือผู้นั้น มีสิทธิเดินออกไปจากบริเวณที่สำรวจตัวเองได้ และไม่มีสิทธิที่จะเข้าร่วมพิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญในวันนั้น จนกว่าลูกเสือผู้นั้น จะผ่านการสำรวจตัวเองทุกข้อ จึงจะเข้าพิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญได้ในวันต่อไป
ใบสำรวจตัวเอง
การสมัครเข้าเป็นลูกเสือวิสามัญ เริ่มต้นด้วยการสำรวจตัวเองก่อน ดังต่อไปนี้
ก. เมื่อเรามีอายุมากขึ้น วันเวลาก็ยิ่งผ่านไปเร็วขึ้น เมื่อคิดดูจะเห็นว่าชีวิตของคนเรานั้นสั้นมากและในไม่ช้าก็จะสิ้นสุดลง ลูกเสือวิสามัญจึงควรถามตนเองว่า
- ฉันได้ใช้เวลาในชีวิตของฉันให้เป็นประโยชน์สมกับที่ได้เกิดมาแล้วหรือ
- ฉันได้ปล่อยเวลาให้หมดไปโดยไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์เลยหรือ
- ฉันกำลังทำงานอะไรอยู่ที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลยหรือ
- ฉันเสาะแสวงหาความเพลิดเพลินหรือหาเงิน หรือหาหนทางก้าวหน้าให้แก่ตนเองมากเกินไป โดยมิได้พยายามช่วยเหลือผู้อื่นหรือ
- ฉันเคยทำร้ายหรือทำให้ใครเดือดร้อนบ้างหรือไม่ ฉันทำอะไรเพื่อแก้ไขสิ่งที่ฉันผิดไปแล้วได้บ้าง
- ฉันเคยได้ช่วยเหลือใครบ้างในชีวิตของฉัน มีใครอีกหรือไม่ที่ฉันจะช่วยได้
ข. คติพจน์ของลูกเสือวิสามัญ คือ “บริการ” ฉะนั้น ถ้าได้เข้าร่วมเป็นลูกเสือวิสามัญก็คงจะได้มีโอกาสได้รับการฝึกอบรมและทำงานเกี่ยวกับบริการต่างๆ ซึ่งถ้าฉันมิได้เป็นลูกเสือวิสามัญ ฉันก็จะไม่มีโอกาสเช่นนั้นลูกเสือวิสามัญจึงควรถามตนเองว่า
- ฉันเข้ามาเป็นลูกเสือวิสามัญ เพื่อความสนุกสนานที่จะได้เท่านั้นหรือ
- ฉันตั้งใจจะบริการโดยการเสียสละอย่างจริงใจหรือไม่
- ฉันเข้าใจความหมายของคำว่า “บริการ” อย่างไร
- ฉันทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนในงาน แผนงาน หรือการกระทำการใดๆ ของฉันบ้างหรือไม่
- บริการอะไรที่ฉันทำได้อย่างดีที่สุด ที่บ้าน ที่ทำงาน และในเวลาว่างของฉัน
ค. บริการ ไม่ใช่เรื่องของเวลาว่างเท่านั้น บริการควรเป็นทัศนคติแห่งชีวิต ซึ่งมีช่องทางที่จะแสดงออกมาด้วยความสมัครใจของเราเอง เราไม่ได้ทำงานเพื่อนายจ้างใดๆ ที่เราให้บริการเพราะเรามีจิตใจสูง การกระทำเช่นนี้แสดงว่าเราเป็นลูกผู้ชาย เนื่องจากความสำเร็จการให้บริการ ย่อมแล้วแต่นิสัยใจคอของเราเองเป็นสำคัญ ฉะนั้นจึงต้องบังคับตนเองให้อยู่ในวินัย เพื่อว่าเราจะได้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น
- ฉันจะเพียรพยายามที่จะละหรือเลิกนิสัยชั่วทั้งหลายที่ได้มีมาแต่ก่อนแล้วหรือ
- อะไรเป็นจุดอ่อนในนิสัยใจคอของฉันบ้าง
- ฉันมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อครอบครัว ผู้บังคับบัญชา ผู้น้อย กระบวนการลูกเสือ เพื่อนของฉันและตัวของฉันเองหรือไม่
- ฉันเป็นผู้มีเกียรติ มีสัจจะ และเชื่อถือได้จริงหรือ
- ฉันมีความหนักแน่น ร่าเริง และมีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นหรือ
- ฉันมีสติ และประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจหรือ
- ฉันมีความมานะ อดทนที่จะยืนหยัดในเมื่อโชคไม่เข้าข้างฉันหรือ
- ฉันเป็นตัวของฉันเอง หรือฉันยอมให้ผู้อื่นชักจูงไป
- ฉันมีใจเข้มแข็งพอที่จะหลีกเลี่ยงจากสิ่งยั่วเย้ายวนต่างๆ เช่น การพนัน สุรา นารีหรือ
- ถ้าฉันมีข้อบกพร่องในสิ่งเหล่านี้ประการใด ฉันจะตกลงใจ ณ บัดนี้หรือไม่ว่า ฉันจะทำตัวให้ดีที่สุด ที่จะแก้ไขบกพร่องเหล่านั้น และสลัดให้สิ้นไป ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จงดลบันดาลให้ข้ามีกำลังใจที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างลูกผู้ชาย สมเป็นพลเมืองดี และเพื่อเป็นกำลังของชาติบ้านเมืองของข้าสืบไป
พิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ
พิธีเข้าประจำกองลูกเสือวิสามัญ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
ให้นำเตรียมลูกเสือวิสามัญในเครื่องแบบมายืนอยู่ข้างหน้ากองลูกเสือวิสามัญ และอยู่ระหว่างพี่เลี้ยงสองคน มีโต๊ะพิธีซึ่งปูด้วยธงชาติ ผู้กำกับยืนด้านหนึ่งของโต๊ะพิธีหันหน้าเข้าหาลูกเสือที่จะเข้าประจำกองแล้วเรียกชื่อผู้ที่จะเข้าพิธี และถามดังนี้
- ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ เรียกชื่อผู้สมัคร “เจ้ามาที่นี่เพื่อที่จะเข้าเป็นลูกเสือวิสามัญในคณะพี่น้องลูกเสือแห่งโลกอันยิ่งใหญ่หรือ”
- ผู้สมัคร “ครับ”
- ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ “ถึงแม้ว่าเจ้าจะมีข้อยุ่งยากมาบ้างแล้ว ในอดีต แต่บัดนี้เจ้าก็ได้ตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุด เพื่อเป็นผู้มีเกียรติ มีสัจจะ มีความซื่อตรงในการงานทั้งปวง พร้อมที่จะปฏิบัติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ ใช่หรือไม่”
- ผู้สมัคร “ใช่ครับ”
- ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ “เจ้าได้คิดรอบคอบดีแล้วหรือว่า เจ้าพร้อมที่จะเข้าเป็นลูกเสือวิสามัญ”
- ผู้สมัคร “ข้า ได้คิดรอบคอบดีแล้ว”
- ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ “เจ้าเข้าใจหรือไม่ว่า คำว่า “บริการ” นั้นหมายความว่า ตลอดเวลาเจ้าจะต้องมีใจหนักแน่นต่อผู้อื่นทุกคนและเจ้าจะทำดีที่สุดเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ถึงแม้ว่าการช่วยเหลือนั้นไม่สะดวกหรือไม่เป็นที่พอใจ หรือไม่เป็นที่ปลอดภัยแก่ตัวเอง และเจ้าจะไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ในการให้บริการนั้น”
- ผู้สมัคร “ข้า เข้าใจดีแล้ว”
- ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ “เจ้าเข้าใจหรือไม่ว่าการที่จะเป็นลูกเสือวิสามัญนั้นเจ้ากำลังจะร่วมอยู่ในคณะลูกเสือที่ต้องการจะช่วยเหลือเจ้า ให้สามารถปฏิบัติตามอุดมคติของเจ้า และเราขอให้เจ้าปฏิบัติตามข้อบังคับและคติพจน์ของเราในเรื่องการให้บริการแก่ผู้อื่น”
- ผู้สมัคร “ข้า เข้าใจดีแล้ว”
- ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ “ถ้าเช่นนั้น ข้าขอให้เจ้ากล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือและพึงเข้าใจได้ด้วยว่าเจ้าแปลความหมายของคำปฏิญาณนี้ไม่ใช่อย่างเด็ก แต่จะแปลอย่างผู้ใหญ่”
- ผู้สมัคร (ก้าวออกมาข้างหน้า เอามือซ้ายจับธง มือขวาแสดงรหัส)
- ลูกเสือในกองลูกเสือวิสามัญทุกคนแสดงรหัส
- ผู้สมัคร “ด้วยเกียรติของข้า ข้า สัญญาว่า ข้อ 1 ข้า จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ข้อ 2 ข้า จะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ ข้อ 3 ข้า จะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ”
จากนั้นผู้กำกับลูกเสือจับมือลูกเสือวิสามัญใหม่ด้วยมือซ้าย และกล่าว “ข้าฯ เชื่อเจ้าว่าด้วยเกียรติของเจ้า เจ้าจะปฏิบัติตามคำปฏิญาณที่เจ้าให้ไว้แล้ว”
ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ ติดแถบที่ไหล่แก่ลูกเสือวิสามัญ และมอบเครื่องหมายให้ พร้อมกล่าว “แถบที่ไหล่นี้มีสามสี คือ สีเหลือง สีเขียว และสีแดง สีเหล่านี้เป็นสีของลูกเสือทั้งสามประเภทที่อยู่ในวงพี่น้องลูกเสือ ข้าขอต้อนรับเจ้ามาอยู่ด้วย ขอให้สีทั้งสามนี้จงเป็นเครื่องเตือนใจให้เจ้าระลึกถึงหน้าที่ของเจ้าที่มีอยู่ต่อลูกเสือรุ่นน้อง และขอให้เจ้าระลึกถึงความรับผิดชอบของเจ้าในฐานะที่เป็นลูกเสือวิสามัญ ในการที่จะบำเพ็ญตนให้ดีที่สุด เพื่อที่จะเป็นตัวอย่างแก่ลูกเสือรุ่นน้องต่อไป”