ลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา

เมื่อ

โดย

ลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา พรบ ลูกเสือ 2551

ลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 โดยให้มีสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาอยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานั้น

โดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นหัวหน้าสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาบังคับบัญชาและรับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา และให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามอบหมายเป็นผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา

สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา มีหน้าที่ในการบริหารงานลูกเสือในเขตพื้นที่การศึกษานั้น ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่การศึกษา ดังต่อไปนี้

  1. ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของกิจการลูกเสือ
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมลูกเสือทั้งในและนอกสถานศึกษา
  4. ควบคุมดูแลทรัพย์สินในกิจการของลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
  5. พิจารณารายงานประจำปีของสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาและรายงานให้คณะกรรมการลูกเสือจังหวัดทราบ
  6. ให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการประจำปี
  7. ให้คำแนะนำแก่ผู้อำนวยการสถานศึกษาในการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมลูกเสือ
  8. จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่างๆ เกี่ยวกับลูกเสือ
  9. กำกับดูแล สนับสนุนและส่งเสริมกิจการลูกเสือชาวบ้านในเขตพื้นที่การศึกษา
  10. ออกระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ เพื่อความเหมาะสมแก่การปกครองในเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะต้องไม่ขัดแย้งกับกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ

คณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา

คณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วย

  1. ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธานกรรมการ
  2. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรของทุกอำเภอในเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลของทุกสถานีในเขตพื้นที่การศึกษาของกรุงเทพมหานคร
  3. กรรมการประเภทผู้แทน ได้แก่ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทนสถานศึกษาเอกชน ผู้แทนสถานศึกษาอาชีวศึกษา ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ผู้แทนค่ายลูกเสือ และผู้แทนสมาคมหรือสโมสรลูกเสือ ซึ่งเลือกกันเองกลุ่มละหนึ่งคน
  4. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งโดยคำแนะนำของกรรมการตาม (2) และ (3) ในจำนวนนี้จะต้องแต่งตั้งจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

ให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอีกไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกกรรมการตาม (3) ให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ