ลูกเสือเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกที่สหราชอาณาจักร โดย โรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ บารอนที่ 1 เบเดน โพเอลล์ (Robert Baden-Powell, 1st Baron Baden-Powell) หรือ “บี-พี” (B-P) เมื่อ ค.ศ. 1907 หรือ พ.ศ. 2450
โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการรบในสงครามบัวร์ (Boer war) ในการรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ที่แอฟริกาใต้ในปี 1901 ซึ่งบี-พี ได้ตั้งกองทหารเด็กให้ช่วยสอดแนมการรบจนรบชนะข้าศึก เมื่อกลับไปสหราชอาณาจักร ในปี 1907 จึงได้ทดลองนำเด็กชาย 20 คน ไปอยู่ค่ายพักแรมที่เกาะคบราวน์ซี (Blacksea Islands) ซึ่งได้ผลดีตามที่คาดหมายไว้ใน ค.ศ. 1908 บี-พี จึงได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกที่สหราชอาณาจักร
ประวัติลูกเสือโลก
ลูกเสือเกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรเป็นแห่งแรกในโลก เมื่อปี ค.ศ. 1907 หรือ พ.ศ. 2451 โดยพลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell) หรือที่นิยมเรียกกันว่า B-P โดยเหตุจูงใจที่โรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ ได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นมาเกิดขึ้นจากการไปรับราชการทหารเพื่อรักษาเมืองแมฟิคิง (Mafeking) ที่เป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักรในสหภาพแอฟริกาใต้
ขณะนั้นเกิดสงครามบัวร์ (Boer) ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ได้ฝึกเด็กขึ้นหน่วยหนึ่งเพื่อช่วยราชการสงคราม เช่น เป็นผู้สื่อข่าว สอดแนม รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน รับใช้ในการงานต่าง ๆ เช่น ทำครัว เป็นต้น ปรากฏว่าได้ผลดีมาก เพราะเด็กที่ได้รับการฝึกเหล่านั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ใช้รับมอบหมายได้อย่างเข้มแข็งว่องไว ได้ผลดีไม่แพ้ผู้ใหญ่และทำบางสิ่งได้ดีกว่าผู้ใหญ่เสียอีก
เมื่อท่านกลับจากราชการสงครามเมืองมาฟฟิคิงแล้ว ท่านได้ร่างโครงการอบรมเด็กขึ้น มีหลักการคล้ายลูกเสือในปัจจุบัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1907 หรือ พ.ศ. 2451 ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ได้ทดลองตั้ง Boy Scout ขึ้นเป็นกองแรกที่ เกาะบราวน์ซี ไอแลนด์ (Brown Sea Island) โดยเกลี้ยกล่อมเด็กที่เที่ยวเตร่อยู่ในที่ต่างๆ มาอบรม และได้คอยคุมการฝึกตามโครงการด้วยตนเอง ซึ่งนับเป็นการพักแรมครั้งแรกของลูกเสือ และได้ผลดีสมความมุ่งหมายทุกประการจึงทำให้เกิดความบันดาลใจ ในอันที่จะขยายกิจการให้กว้างขวางออกไปในวันข้างหน้า
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2455 รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศรับรองฐานะของลูกเสือเป็นทางการพร้อมกับออกกฎหมายคุ้มครองให้ด้วย จากนั้นการลูกเสือของบริติชก็เจริญแพร่หลายออกไปเป็นลำดับมา
โดยคติพจน์ที่ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ได้ให้ไว้แก่ลูกเสือก็คือ BE PREPARED (จงเตรียมพร้อม)
หนังสือ Scouting for boys พิมพ์ออกจำหน่ายทั้งหมด 6 เล่มและประเทศต่าง ๆ ที่มีกิจการ Scout ก็มักเคยพิมพ์ออกเผยแพร่สำหรับผู้ที่สนใจรวมทั้งประเทศไทยด้วย
ต่อมา พลโท เบเดน โพเอลล์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น บารอน ซึ่งบรรดาศักดิ์นี้พระราชทานโดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 เเห่งสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2472 ทำให้เขาเป็นสมาชิกสภาขุนนาง ซึ่งตามประเพณีของบริติชผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่บารอนขึ้นไปจะต้องมีชื่อสถานที่ต่อท้าย ซึ่งเขาเลือกเอา กิลเวลล์ (Gil Well Park) ที่เป็นชื่อของศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ ทำให้เขาได้ชื่อตามบรรดาศักดิ์ว่า บารอน เบเดน โพเอลล์ แห่ง กิลเวลล์ แต่คนทั่วไปมักนิยมเรียก ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ ในการชุมนุม Scout ครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2463 ที่ประชุมผู้แทน Scout จากประเทศต่าง ๆ ก็ประกาศให้เขาเป็นประมุขของ Scout ตลอดกาล และทุกคนเรียกท่านอย่างย่อว่า B-P
ประวัติลูกเสือไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 หรือ ค.ศ. 1911 โดยทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียนต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทานคำขวัญลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” ซึ่งเป็นก่อตั้งลูกเสือไทยหลังจากลูกเสือโลกได้ก่อตั้งขึ้นได้ไม่นาน
การก่อตั้งกิจการลูกเสือในครั้งแรกนั้น พระองค์ทรงตั้งกองลูกเสือให้มีในโรงเรียนก่อนโดยมีกองลูกเสือแรกเป็น กองลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือ โรงเรียนวชิราวุธ ซึ่งปัจจุบันและถูกเรียกว่ากองลูกเสือหลวง หรือกองลูกเสือกรุงเทพที่ 1 และลูกเสือในโรงเรียนนี้ก็ถูกเรียกว่าลูกเสือหลวงเช่นกัน ก่อนที่กิจการลูกเสือจะขยายไปสู่โรงเรียนเด็กชายทั่วประเทศในเวลาไม่นาน โดยลูกเสือคนแรก คือ นักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ชื่อ ชัพน์ บุนนาค
การเป็นลูกเสือของนายชัพน์ บุนนาค นั้นเกิดจากการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ และกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือ ซึ่งเป็นการกล่าวต่อหน้าพระพักตร์ ซึ่งครั้งนั้นมีผู้ที่บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ว่า
ร.6: “อ้ายชัพน์ ดอกหรือ เอ็งกล่าวคำสาบานของลูกเสือได้หรือเปล่า”
ชัพน์: “ข้าพระพุทธเจ้าท่องมาแล้วว่า
1. ข้าจะมีใจจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัว
2. ข้าจะประพฤติตนให้สมควรเป็นลูกผู้ชาย
3. ข้าจะประพฤติตนตามข้อบังคับและแบบแผนของลูกเสือ”
ร.6: ในหน้าที่ซึ่งข้าได้เป็นผู้ประสิทธิประสาทลูกเสือของชาติขึ้นมา ข้าขอให้เจ้าเป็นลูกเสือคนแรก”
จากนั้นพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “อ้าย ชัพน์ เอ็งเป็นลูกเสือแล้ว” และแล้วกิจการลูกเสือก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบในประเทศไทย
ก่อนที่ในภายหลังได้ทรงพระราชทานคติพจน์ให้กับลูกเสือว่า เสียชีพอย่าเสียสัตย์
ทั้งนี้ คำว่า “ลูกเสือ” ที่พระองค์ทรงพระราชทานชื่อนั้น มีนัยว่าพระองค์ทรงเล่นล้อคำกับคำว่า “เสือป่า” ที่บางครั้งทรงเรียกว่า “พ่อเสือ” และเมื่อมีกิจการแบบเดียวกันที่มีเหล่าสมาชิกเป็นเด็กชาย พระองค์จึงทรงใช้คำว่าลูกเสือ แต่ภายหลังทรงพระราชนิพนธ์ถึงที่มาของชื่อลูกเสืออย่างเป็นทางการเอาไว้ว่า
ลูกเสือ บ่ ใช่สัตว์เสือไพร เรายืมมาใช้ด้วยใจกล้าหาญปานกัน
ใจกล้ามิใช่กล้าอาธรรม์ เช่นเสืออรัญสัญชาติชนคนพาล
ใจกล้าต้องกล้าอย่างทหาร กล้ากอปรกิจการแก่ชาติประเทศเขตคน
การลูกเสือไทยในปัจจุบัน
ลูกเสือ คือ เยาวชนชายและหญิงอายุระหว่าง 6 – 25 ปีที่รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรวิชาลูกเสือ โดยยึดมั่นในหลักการ (Principle) วิธีการ (Method) และวัตถุประสงค์ (Purpose) ของการลูกเสือ (Scouting) อย่างเคร่งครัดตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 และข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509 ที่ได้มีการกำหนดประเภทของลูกเสือและเหล่าลูกเสือให้ลูกเสือแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ สำรอง สามัญ สามัญรุ่นใหญ่ วิสามัญ และอาจจัดให้มีลูกเสือเหล่าสมุทร และลูกเสือเหล่าอากาศได้
- ลูกเสือสำรอง (Cub Scout) อายุ 7 – 9 ปี คติพจน์ : ทำดีที่สุด (Do your best)
- ลูกเสือสามัญ (Scout) อายุ 10 – 12 ปี คติพจน์ : จงเตรียมพร้อม (Be prepared)
- ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (Senior Scout) อายุ 13 – 15 ปี คติพจน์ : มองไกล (Look wide)
- ลูกเสือวิสามัญ (Rover) อายุ 16 – 25 ปี คติพจน์ : บริการ (Service)
ส่วนลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกชื่อว่า เนตรนารี หรือชื่ออื่นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติให้หมายถึง ลูกเสือที่เป็นหญิงด้วย
กิจการลูกเสือในประเทศไทยยังคงได้รับการสืบสานให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับนับจนปัจจุบัน โดยมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์คณะลูกเสือแห่งชาติ
โดยได้มีการส่งคณะผู้แทนลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือไทยครั้งที่ 1 ที่ประเทศอังกฤษ ส่งผลให้คณะลูกเสือไทยได้เป็นสมาชิกของสมัชชาลูกเสือโลกในปี พ.ศ. 2465 และส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย 10 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศเดนมาร์ก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 รัชกาลที่ 7 ได้ทรงจัดตั้งการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ และกำหนดให้จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติในทุก ๆ 3 ปี
และในปี พ.ศ. 2478 ได้มีการทำตราคณะลูกเสือแห่งชาติขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ. 2483 – 2489 กิจการลูกเสือไทยอยู่ในภาวะซบเซาเนื่องจากอยู่ระหว่างสงคราม แต่ในปี พ.ศ. 2485 ก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติลูกเสือ ซึ่งได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ดำรงทรงตำแหน่งบรมราชูปถัมภ์คณะลูกเสือแห่งชาติ
11 ปีให้หลังได้มีการริเริ่มการสร้างค่ายลูกเสือวชิราวุธ และ 5 ปีต่อมาได้มีการริเริ่มฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสำรอง และจัดตั้งกองลูกเสือสำรองกองแรกขึ้นในประเทศไทย ก่อนจะเข้าสู่ยุคปัจจุบันที่ได้มีการกำหนดให้วิชาลูกเสือเป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานของหลักสูตรของการศึกษาไทย ตลอดจนมีการจัดตั้งชุมนุมลูกเสือในไทยและมีการส่งผู้แทนไปชุมนุมลูกเสือโลกอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง: คณะลูกเสือแห่งชาติ และ ประวัติลูกเสือไทย