ผู้ตรวจการลูกเสือ หมายถึง ผู้ตรวจการใหญ่พิเศษ ผู้ตรวจการใหญ่ รองผู้ตรวจการใหญ่ ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด รองผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด ผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ตามมาตรา 47 แห่ง พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551
ผู้ตรวจการลูกเสือ คือ ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจตรา แนะนำ ชี้แจง และรายงาน เพื่อให้การบริหารงานลูกเสือเป็นไปตามนโยบาย ข้อบังคับ ระเบียบ และแบบธรรมเนียมของลูกเสือ
โดยลำดับตำแหน่งผู้ตรวจการลูกเสือได้ระบุเอาไว้ใน มาตรา 47 ของพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ดังนี้
- ผู้ตรวจการใหญ่พิเศษ
- ผู้ตรวจการใหญ่
- รองผู้ตรวจการใหญ่
- ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- ผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
- รองผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
- ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
- ผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
- รองผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
ทั้งนี้ ผู้รับตำแหน่งผู้ตรวจการลูกเสือ ได้ถูกระบุเอาไว้ในมาตรา 48 ของพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ได้แก่
ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตรวจการใหญ่พิเศษ
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ตรวจการใหญ่
ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมการปกครอง และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นรองผู้ตรวจการใหญ่
ส่วนการแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือและการกำหนดหน้าที่ของผู้ตรวจการลูกเสือในข้อ 4 ถึง 11 ให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ โดยปัจจุบันคือ “ข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือและการกำหนดหน้าที่ของผู้ตรวจการลูกเสือ พ.ศ. 2553“
การแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือ
การแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือในข้อ 4 ถึง 11 ให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือและการกำหนดหน้าที่ของผู้ตรวจการลูกเสือ พ.ศ. 2553 ดังนี้
1. เป็นผู้สุภาพเรียบร้อย มีความประพฤติดี สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก
2. เป็นผู้มีศาสนา
3. เป็นผู้ไม่มีโรคซึ่งเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
4. เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือถ้าไม่มีสัญชาติไทยต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร ลูกเสือแห่งชาติ
5. เป็นผู้ยึดมั่นในคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ และได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์
6. เป็นผู้มีอาชีพเป็นหลักฐานไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี
7. เป็นผู้มีอายุดังต่อไปนี้
- ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์
- รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี บริบูรณ์
- ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์
- รองผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด ผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา มีอายุไม่ต่ำกว่า 28 ปีบริบูรณ์
- ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด รองผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา มีอายุ ไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
การแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
นอกจากนั้น ให้ประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติในตำแหน่ง ดังต่อไปนี้
- ผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- รองผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือประจำสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
การแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
ให้ประธานกรรมการลูกเสือจังหวัดแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือในจังหวัดโดยผ่าน ความเห็นชอบจากคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด ในตำแหน่งดังต่อไปนี้
- ผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
- รองผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
- ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด
การแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
ให้ประธานกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษาแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือในเขตพื้นที่การศึกษา โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ในตำแหน่งดังต่อไปนี้
- ผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
- รองผู้ตรวจการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
หน้าที่ของ ผู้ตรวจการลูกเสือ มีหน้าที่ตรวจตรา
ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือและการกำหนดหน้าที่ของผู้ตรวจการลูกเสือ พ.ศ. 2553 ผู้ตรวจการลูกเสือมีหน้าที่ตรวจตรา แนะนำ สนับสนุน ส่งเสริม ชี้แจง และรายงาน เพื่อให้การบริหารงานลูกเสือเป็นไปตามนโยบาย หลักการ ข้อบังคับ ระเบียบ และแบบ ธรรมเนียมของลูกเสือ
ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการลูกเสือในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติอาจแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจการ ลูกเสือในฝ่ายต่าง ๆ และกำหนดหน้าที่ของผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายนั้น ๆ ตามความเหมาะสม โดยออก ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายต่าง ๆ
การพ้นจากตำแหน่งของผู้ตรวจการลูกเสือ
ผู้ตรวจการลูกเสืออาจพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
- ตาย
- ลาออก
- ขาดคุณสมบัติ
- มีเหตุหนึ่งเหตุใดอันไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
โดยผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้ตรวจการลูกเสือแต่ละประเภทจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งจำหน่ายผู้ตรวจการลูกเสือออกจากทะเบียนผู้ตรวจการลูกเสือ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ หรือคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด หรือคณะกรรมการลูกเสือ เขตพื้นที่การศึกษา แล้วแต่กรณีให้พ้นจากตำแหน่ง