เครื่องหมายวูดแบดจ์ และพิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

เมื่อ

โดย

เครื่องหมายวูดแบดจ์ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้กำกับลูกเสือ พิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

เครื่องหมายวูดแบดจ์ คือ เครื่องหมายที่มอบให้กับบุคลากรทางการลูกเสือที่ผ่านการฝึกอบรม 4 ขั้นตอน และได้นำความรู้และทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปดำเนินการในกองลูกเสือเป็นเวลาอย่างน้อย 4 เดือนแต่ไม่เกิน 2 ปีจากวันสิ้นสุดการฝึกอบรมขั้นความรู้ชั้นสูง และได้รับการประเมินผลเพื่อเสนอเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ให้อนุมัติและแต่งตั้งให้มีสิทธิ์ประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์ได้

การมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรทางลูกเสือ นับตั้งแต่สมัครเข้ารับการฝึกอบรม และได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติงานพัฒนากองลูกเสือที่ตนรับผิดชอบและกิจการลูกเสือให้เกิดผลดีอย่างกว้างขวาง และผ่านการประเมินผลตามหลักเกณฑ์และวิธีการ กระบวนการ ที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติกำหนด

ซึ่งบุคลากรทางลูกเสือที่ได้รับอนุมัติและแต่งตั้งจากเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติให้เป็นผู้มีคุณวุฒิ จะมีสิทธิ์ประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์ได้

เครื่องหมายวูดแบดจ์ ตัวอย่าง Wood Badge เครื่องหมายวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นวูดแบดจ์
เครื่องหมายวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นวูดแบดจ์

เครื่องหมายวูดแบดจ์ จะมอบให้แก่ใคร?

ตามอนุสนธิจากระเบียบคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือ พ.ศ. 2556 กำหนดให้การฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือมี 2 ระดับ คือ

  • ระดับที่ 1 การฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือ
  • ระดับที่ 2 การฝึกอบรมผู้ให้การฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือ

สำหรับการฝึกอบรม ระดับที่ 1 ยังแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 5 ขั้น คือ

  • ขั้นที่หนึ่ง ขั้นความรู้ทั่วไป ใช้เวลาในการฝึกอบรม 1 วัน
  • ขั้นที่สอง ขั้นความรู้เบื้องต้น ซึ่งใช้เวลาในการฝึกอบรม 3 วัน
  • ขั้นที่สาม ขั้นฝึกหัดงาน
  • ขั้นที่สี่ ขั้นความรู้ชั้นสูง ใช้เวลาในการฝึกอบรม 7 วัน
  • ขั้นที่ห้า ขั้นปฏิบัติการและประเมินผล

บุคลากรทางการลูกเสือ ที่ผ่านการฝึกอบรมทั้ง 4 ขั้นตอน ต้องนำความรู้และทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปดำเนินการในกองลูกเสือเป็นเวลาอย่างน้อย 4 เดือนแต่ไม่เกิน 2 ปีนับจากวันสิ้นสุดการฝึกอบรมขั้นความรู้ชั้นสูง จากนั้นให้เสนอรายงานไปยังสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานลูกเสือจังหวัดแล้วแต่กรณี

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการตรวจขั้นที่ 5 ขั้นปฎิบัติการและประเมินผลเป็นผู้เสนอผลการตรวจขั้นที่ห้า ขั้นปฎิบัติการและประเมินผล ไปยังสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานลูกเสือกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงานลูกเสือจังหวัดแล้วแต่กรณี เพื่อเสนอเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อนุมัติและแต่งตั้งให้มีสิทธิ์ประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์สองท่อนได้

ที่มาของเครื่องหมายวูดแบดจ์

เครื่องหมายวูดแบดจ์ (Wood Badge) มีที่มาจากในปี พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) เมื่อ BP อายุ 31 ปี ได้รับแต่งตั้งให้อยู่ในคณะนายทหารที่ได้รับมอบหมายให้ไปปราบพวกซูลู ในแอฟริกาซึ่งก่อความไม่สงบ โดยมีดินิซูลูเป็นหัวหน้า BP และคณะได้ปราบพวกซูลูสำเร็จ และตรวจค้นที่พักของดินิซูลู ได้พบสร้อยคอร้อยด้วยลูกปัด (ไม้แกะสลักเป็นท่อนเล็กๆ) ซึ่งดินิซูลู (หัวหน้าเผ่าของซูลู) ใช้สวมรอบคอ และพันรอบตัวในเวลาทำพิธีการต่างๆ ของเผ่าซูลู BP ได้นำเอาสร้อยลูกปัดไม้นี้กลับไปยังประเทศอังกฤษ

ต่อมาเมื่อ BP ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือที่กิลเวลล์ปาร์ค และให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสำหรับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือตามหลักสูตรของกิลเวลล์ปาร์ครุ่นแรกๆ BP ได้มอบลูกปัดไม้ดั้งเดิมจากสร้อยคอของดินิซูลู ร้อยเป็นสายคล้องคอมอบให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม เรียกว่า “สายบีด” ต่อมาลูกปัดไม้นี้ค่อยๆ หมดไป จนเหลือน้อยมาก BP จึงใช้ไม้แกะเป็นท่อนเล็กๆ คล้ายกับหมอนแทนลูกปัดดั้งเดิมของดินิซูลู และร้อยบนสายหนัง เรียกว่า เครื่องหมายวูดแบดจ์ และใช้เป็นเครื่องหมายแสดงคุณวุฒิทางการลูกเสือมาจนถึงปัจจุบัน

พิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์

พิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ เป็นพิธีที่จัดขึ้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรทางลูกเสือ นับตั้งแต่สมัครเข้ารับการฝึกอบรม และได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติงานพัฒนากองลูกเสือที่ตนรับผิดชอบและกิจการลูกเสือให้เกิดผลดีอย่างกว้างขวาง และผ่านการประเมินผลตามหลักเกณฑ์และวิธีการ กระบวนการ ที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติกำหนด โดยได้รับอนุมัติและแต่งตั้งจากเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติให้เป็นผู้มีคุณวุฒิและมีสิทธิ์ประดับเครื่องหมายวูดแบดจ์ได้

พิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ ควรจัดในโอกาสที่มีการประชุมบุคลากรทางการลูกเสือ หรือวันสำคัญทางการลูกเสือ หรือในพิธีเปิดการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือ หรือจัดขึ้นเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ แล้วแต่โอกาสและความเหมาะสม

พิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ 2 ท่อน

การเตรียมสถานที่ / วัสดุ – อุปกรณ์

  1. ควรเลือกสถานที่ ที่สามารถจัดเรียงเก้าอี้ได้ตามจำนวนผู้เข้าร่วมพิธี เช่น ห้องประชุม
  2. พานสำหรับวางเครื่องหมายวูดแบดจ์ ผ้าผูกคอ
  3. ผ้าผูกคอกิลเวลล์และเครื่องหมายวูดแบดจ์ (สายบีด) ควรให้ผู้เข้ารับเตรียมมาเองการแต่งกายของผู้ร่วมพิธี
  4. ประธานในพิธีและแขกผู้เข้าร่วมพิธี แต่งเครื่องแบบลูกเสือ
  5. ผู้เข้ารับเครื่องหมายวูดแบดจ์ แต่งเครื่องแบบลูกเสือ สวมผ้าผูกคอตามสังกัด ทั้งนี้ ให้เตรียมผ้าผูกคอกิลเวลล์และเครื่องหมายวูดแบดจ์ของตนเองมาด้วย

ขั้นตอนประกอบพิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ 2 ท่อน

  1. ผู้ที่ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ ถอดผ้าผูกคอเดิมของตนออกเสียก่อน สายบีดที่จะมอบให้แก่ผู้รับ
    สวมใส่คอผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธานไว้ก่อน เฉพาะในกรณีที่ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือ
    ผู้เป็นประธานนั้น ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์แล้ว
  2. ผู้รับเดินตรงมาหน้าผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธาน ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธานถอดสายบีดจากคอตนแล้วสวมให้กับผู้รับแล้วสัมผัสมือด้วยมือซ้ายแสดงความยินดีเป็นรายบุคคล
    (แม้จะมีผู้รับเป็นจำนวนมากก็ตาม) ผู้รับแสดงความเคารพตอบ (วันทยหัตถ์)
  3. ผู้รับเคลื่อนไปยังคนที่ 2 (คนที่ 2 ควรจะเป็นผู้มีอาวุโสรองลงมาจากผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด หรือผู้เป็นประธาน) เป็นผู้คล้องผ้าผูกคอ (แบบกิลเวลล์) ให้
  4. ผู้รับเคลื่อนไปยังคนที่ 3 (คนที่ 3 ควรเป็นผู้อาวุโสรองจากคนที่ 2) เป็นผู้สวมห่วงผ้าผูกคอ
  5. เมื่อได้รับเครื่องหมายครบทุกคนแล้ว ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีต่อที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง และแจ้งให้ทราบว่าผู้ที่ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์แล้ว นับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มที่ 1 ของกิลเวลล์

ข้อเสนอแนะ

1) กรณีที่ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธาน มิได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์มาก่อน ให้นำ
บีดที่จะมอบวางไว้บนพาน

2) กรณีที่ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธาน มิได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ ให้หยิบสายบีด
จากพานมอบให้ผู้รับ รับไปสวมเอง

3) ประธานในพิธี อาจเรียนเชิญ ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด รองผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด ผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน และผู้ทรงคุณวุฒิทางการลูกเสือ ฯลฯ หากมีประธานในพิธีเพียงคนเดียว ให้เป็นผู้มอบทั้ง 3 รายการ

พิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ 3 หรือ 4 ท่อน

ปฎิบัติตามแนวทางเดียวกับพิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ 2 ท่อน แต่ใช้ประธานเพียงคนเดียว

การแต่งกายของผู้ร่วมพิธี

  1. ประธานในพิธีและแขกผู้เข้าร่วมพิธี แต่งเครื่องแบบลูกเสือ
  2. ผู้เข้ารับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 3 หรือ 4 ท่อน แต่งเครื่องแบบลูกเสือ สวมผ้าผูกคอกิลเวลล์ทั้งนี้
    ให้เตรียมเครื่องหมายวูดแบดจ์ 3 หรือ 4 ท่อน ของตนเองมาด้วย

ขั้นตอนการประกอบพิธี

  1. จัดสายบีด 3 หรือ 4 ท่อน ที่จะมอบให้แก่ผู้รับ สวมใส่คอผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธานไว้ก่อน ในกรณีที่ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธานนั้น ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 3 หรือ 4 ท่อน แล้วแต่กรณี
  2. ผู้รับเดินตรงมาหน้าผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธาน ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือ ผู้เป็นประธานถอดสายบีดจากคอตนแล้วสวมให้กับผู้รับ แล้วสัมผัสมือด้วยมือซ้าย แสดงความยินดีเป็นรายบุคคล (แม้จะมีผู้รับเป็นจำนวนมากก็ตาม) ผู้รับแสดงความเคารพตอบ (วันทยหัตถ์)
  3. เมื่อได้รับเครื่องหมายครบทุกคนแล้ว ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธานกล่าวแสดง ความยินดีต่อที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง

ข้อเสนอแนะ

1) กรณีที่ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธาน มิได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 3 หรือ 4 ท่อนมาก่อน ให้นำบีดที่จะมอบวางไว้บนพาน

2) กรณีที่ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดหรือผู้เป็นประธาน มิได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 3 หรือ 4 ท่อน ให้หยิบสายบีดจากพานมอบให้ผู้รับ รับไปสวมเอง

3) ประธานในพิธีอาจเรียนเชิญ ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด รองผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด ผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน และผู้ทรงคุณวุฒิทางการลูกเสือ ฯลฯ

4) กรณีทำพิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ ในงานเดียวกันให้จัดพิธีมอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ 4 ท่อน, 3 ท่อน, และ 2 ท่อน ตามลำดับ