ไม้ถือผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และวิธีใช้ไม้ถือ

เมื่อ

โดย

ไม้ถือผู้บังคับบัญชาลูกเสือ คือ ไม้ถือลูกเสือ ไม้ถือผู้กำกับลูกเสือ

ไม้ถือผู้บังคับบัญชาลูกเสือ คือ ไม้สีน้ำตาลแก่ลักษณะกลมยาว 75 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางในส่วนหัวไม้ 1.8 เซนติเมตร ส่วนกลางไม้ 1.5 เซนติเมตร และส่วนปลายไม้ 1.2 เซนติเมตร โดยที่ส่วนหัวและส่วนปลายไม้ถือมีปลอกทองเหลืองหุ้ม จากหัวไม้ลงมา 16 เซนติเมตร ให้มีปลอกทองเหลืองตราคณะลูกเสือแห่งชาติหุ้มอยู่ และจากหัวไม้ลงมา 12 เซนติเมตร ให้มีพู่ 2 พู่ ผูกติดอยู่กับไม้

โดยพู่จะเป็นเชือกถักติดกับไม้ถือ ปลายเชือกยาวข้างละ 6 เซนติเมตรต่อจากปลายเชือกแต่ละข้างทำเป็นพู่ยาวข้างละ 7 เซนติเมตร ขนาดโตพอสมควร และสีของพู่ของไม้ถือผู้บังคับบัญชาลูกเสือจะมีสีที่แตกต่างกันตามประเภทของลูกเสือหรือตำแหน่งของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

  • ผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญ เชือกและพู่เป็นสีเขียว
  • ผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เชือกและพู่เป็นสีเลือดหมู
  • ผู้บังคับบัญชาลูกเสือวิสามัญ เชือกและพู่เป็นสีแดง
  • ผู้บังคับบัญชาลูกเสือชั้นผู้ตรวจการลูกเสือ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เชือกและพู่เป็นสีม่วง
  • ผู้บังคับบัญชาลูกเสือชั้นผู้ตรวจการลูกเสือ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด เชือกสีม่วง พู่สีม่วงกับสีเหลือง
  • ผู้บังคับบัญชาลูกเสือชั้นผู้ตรวจการลูกเสือ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการลูกเสืออำเภอ เชือกสีม่วง พู่สีม่วงกับสีแดง

วิธีใช้ไม้ถือผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

โอกาสในการใช้ไม้ถือผู้บังคับบัญชาลูกเสือ จะใช้ในโอกาสที่ควบคุมแถวลูกเสือในพิธีใดๆ ที่ลูกเสือถือไม้พลองหรือไม้ง่ามหรือในโอกาส ต่อไปนี้

  1. เมื่อประจำแถวลูกเสือ ในการตรวจพลสวนสนาม
  2. เมื่อประจำแถวลูกเสือกองเกียรติยศ กองรักษาการณ์
  3. เมื่อเชิญธงคณะลูกเสือแห่งชาติ ธงลูกเสือประจำจังหวัด ธงประจำกองลูกเสือ
  4. เมื่อมีคำบอกหรือมีคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

วิธีถือไม้ถือในท่าปกติ

วิธีถือไม้ถือในท่าปกติให้ยืนอยู่ในท่าตรงและหย่อนเข่าขวา ไม้ถือจะหนีบอยู่ระหว่างด้านในศอกซ้ายกับข้างลำตัว โดยแขนซ้ายท่อนบนแนบขนานกับลำตัวหนีบไม้ถือไว้ แขนซ้ายท่อนล่างเหยียดตรงไปข้างหน้ามือซ้ายกำไม้ถือให้ฝ่ามือหงายขึ้น ห่างจากโคนไม้ถือประมาณ 1 ฝ่ามือ ให้ไม้ถือขนานกับพื้น

ให้ไม้ถือขนานกับพื้น เมื่อบอกให้ลูกเสือ “ตามระเบียบ, พัก” ผู้กำกับลูกเสือ รองผู้กำกับลูกเสือ เนตรนารีหย่อนเข่าขวา

ท่าบ่าอาวุธ

ท่าบ่าอาวุธ เป็นท่าที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ถือไม้ถือต้องปฏิบัติ ในกรณีที่มีคำสั่งให้ลูกเสือแบกอาวุธ หรือก่อนที่จะทำการเคารพด้วยท่าวันทยาวุธ เมื่อได้ยินคำบอกว่า “ลูกเสือ – ตรง” ให้ผู้บังคับบัญชาลูกเสือกระตุกเข่าขวาอยู่ในท่าตรง และเมื่อได้ยินคำบอก “ตรงหน้า, ระวัง” พอสิ้นคำบอกให้ผู้ถือไม้ถือทำท่าบ่าอาวุธ ให้แบ่งเป็น 3 จังหวะ ดังนี้

  1. จังหวะที่หนึ่ง ใช้มือขวาจับโคนไม้ถือโดยให้ฝ่ามือคว่ำลง ชักไม้ถือออกจากซอกแขนซ้ายกับลำตัว โดยให้แขนขวาเหยียดตรงไปข้างหน้าขึ้นเหนือศีรษะเฉียงไปข้างหน้าทางกึ่งขวา
  2. จังหวะที่สอง ลดมือขวาที่กำไม้ถือลงมาอยู่เสมอปาก ห่างจากปากประมาณ 1 ฝ่ามือ (ไม้ถืออยู่ในแนวตั้งตรง) นิ้วหัวแม่มือขวาวางทาบกับไม้ถืออยู่ด้านใน ส่วนนิ้วทั้งสี่กำไม้ถือเรียงชิดติดกันอยู่ด้านนอก
  3. จังหวะที่สาม ลดมือขวาที่กำไม้ถือลงข้างลำตัวด้านขวามือ แขนเหยียดตรง ไม้ถืออยู่แนบในร่องไหล่ขวา ปลายไม้ถือชี้ขึ้นข้างบน นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านในชิดลำตัว นิ้วทั้ง 4 เรียงชิดติดกันด้านนอก ไม้ถืออยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้

ท่าวันทยาวุธ

เมื่อได้ยินคำบอก “วันทยา-วุธ” ให้ยกมือขวาขึ้นมาเสมอปาก ห่างจากปากประมาณ 1 ฝ่ามือ แล้วฟาดปลายไม้ถือลงไปข้างหน้าเฉียงลง ห่างจากพื้นประมาณ 1 คืบ โดยให้แขนขวาเหยียดตรงอยู่ข้างขาขวา

ท่าเรียบอาวุธ

ท่าเรียบอาวุธ เมื่อได้ยินคำบอก “เรียบ” ให้ชูมือขวาที่ถือไม้ถือขึ้นเหนือศีรษะเฉียงไปข้างหน้าทางกึ่งขวา ลดปลายไม้ถือลงมาเสมอปาก แล้วนำไม้ถือมาอยู่ในท่าบ่าอาวุธ

เมื่ออยู่ในท่าบ่าอาวุธแล้ว และได้ยินคำบอก “อาวุธ” ให้ชูไม้ถือเหนือศีรษะกึ่งทางขวาแล้วเอนปลายไม้ถือลง ยกมือซ้ายขึ้นมารับไม้ถือเหมือนในท่าปกติ โดยสอดไม้ถือลงในซอกแขนซ้ายระหว่างแขนซ้ายกับลำตัว ไม้ถือวางอยู่บนแขนซ้ายท่อนล่างที่งอขึ้นมารับจับไม้ถือลดมือขวาลงมาทางด้านข้างลำตัวทางขวาอยู่ในท่าตรง