ประวัติยุวกาชาดไทย แบบสรุปตาม Timeline

เมื่อ

โดย

ในหมวด

ประวัติ ยุวกาชาดไทย ก่อตั้งเมื่อ ยุวกาชาด คือ

ยุวกาชาดไทย ก่อตั้งขึ้นโดยพระดำริของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2465 ในชื่อ “กองอนุสภากาชาดสยาม” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “กองอนุกาชาด” และ “กองยุวกาชาด” ตามลำดับ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานยุวกาชาด” ในปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2465 กำเนิดอนุสภากาชาดสยาม

27 มกราคม 2465 กิจการอนุสภากาชาดสยามถือกำเนิดโดยพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์กรมพระนครสวรรค์วรพินิต อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม

และ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2465 ได้มีการเปิดหมู่อนุสภากาชาดเป็นแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น ณ โรงเรียนราชินี

พ.ศ. 2483 จัดตั้งกองอาสากาชาด

28 พฤษภาคม 2483 ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการสภากาชาดไทย ให้จัดตั้ง “กองอาสากาชาด” ขึ้น โดยมีหน้าที่อบรมสมาชิกอาสากาชาดไว้เพื่อให้ทำการอุปการสงเคราะห์โดยทันท่วงที และมีประสิทธิภาพในเวลาฉุกเฉินแห่งสงคราม หรือเหตุการณ์สาธารณภัยพินาศ และช่วยเป็นกำลังดำเนินงานของสภากาชาดไทยในเวลาปกติ

1 สิงหาคม 2483 เปิดรับสมัครบุคคลเข้าเป็นอาสากาชาดครั้งแรก จึงได้กำหนดให้ 1 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันสถาปนาของกองอาสากาชาด

พ.ศ. 2484 สงครามอินโดจีน

ช่วงสงครามอินโดจีน (กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนด้านอินโดจีน) และสงครามมหาเอเชียบูรพา กองอาสากาชาดได้ส่งอาสากาชาดออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานการพยาบาลและประกอบอาหารเลี้ยงทหารผู้บาดเจ็บจากราชการสนามตามโรงพยาบาลต่าง ๆ

20 ตุลาคม 2484 จัดตั้ง สโมสรอาสากาชาด เพื่อให้สมาชิกอาสากาชาดได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน โดยนายโอวบุ้นโฮ้ว สมาชิกกิติมศักดิ์สภากาชาดไทย ได้บริจาคเงินตั้งต้นในการสร้างตึกสโมสรอาสากาชาด

พ.ศ. 2485 กองอนุกาชาด

การดำเนินกิจการของอนุกาชาด ได้เจริญเติบโตตามลำดับ จึงได้เปลี่ยนชื่อจากกองอนุสภากาชาดสยาม เป็น กองอนุกาชาด

พ.ศ. 2521 กองยุวกาชาด

16 มีนาคม 2521 กองอนุกาชาดได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองยุวกาชาด และขยายอายุจาก 7 – 18 ปี เป็น 7 – 25 ปี จึงทำให้รวมถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เรียนอยู่ในระดับ อาชีวศึกษา เตรียมอุดมศึกษา ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา

พ.ศ. 2522 เราคือยุวกาชาด

ได้มีการปรับเปลี่ยนหัวหน้ากอง เป็น ผู้อำนวยการกองยุวกาชาด กรมพลศึกษา และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองยุวกาชาดสภากาชาดไทย และแบ่งยุวกาชาด ออกเป็น 2 ประเภท คือ ยุวกาชาดในสถานศึกษา และ ยุวกาชาดนอกโรงเรียน

ได้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบยุวกาชาดจาก เสื้อคอปกแขนยาวสีขาว ผ้าผูกคอสีน้ำเงิน และกระโปรงสีน้ำเงิน มาเป็น เครื่องแบบยุวกาชาดสีฟ้าอมเทาที่ได้สวมใส่อยู่ในปัจจุบัน

พ.ศ. 2539 สำนักงานอาสากาชาด

22 มิถุนายน 2539 โดยอนุมัติที่ประชุมคณะกรรมการสภากาชาดไทย มีมติให้เปลี่ยนชื่อ “กองอาสากาชาด” เป็น “สำนักงานอาสากาชาด

พ.ศ. 2540 สำนักงานยุวกาชาด

กองยุวกาชาด สภากาชาดไทย เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย

พ.ศ. 2543 ชมรมอาสายุวกาชาด

ชมรมอาสายุวกาชาดจัดตั้งครั้งแรก คือ โรงเรียนพรตพิทยพยัต เรียกอาสาสมัครว่า “อาสายุวกาชาด”

พ.ศ. 2546 คืนถิ่นสภากาชาดไทย

รัฐบาลได้ปฏิรูประบบราชการโดยการปรับปรุงโครงสร้าง ของกระทรวง ทบวง กรมใหม่ ทำให้สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน ย้ายที่ทำการไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนสำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย ได้ย้ายที่ทำการกลับมาอยู่ที่ ณ ตึกจิรกิติ สภากาชาดไทย โดยได้แบ่งการบริหารแบบชัดเจน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะดูแลเยาวชนในระบบการศึกษา อายุ 7 – 18 ปี ส่วนสำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย ดูแลเยาวชนในและนอกระบบการศึกษารวมถึงระดับอุดมศึกษาอายุ 15 – 25 ปี

โดยสภากาชาดไทยแต่งตั้ง รศ. นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ เป็นผู้อำนวยการที่เป็นบุคลากรของสภากาชาดไทยคนแรกของสำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย

พ.ศ. 2546 – 2556 หนึ่งอำเภอ หนึ่งชมรม

เพื่อให้เครือข่ายอาสายุวกาชาดได้มีการขยายครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย จึงได้เกิดโครงการ 1 อำเภอ 1 ชมรมขึ้น เพื่อให้อาสายุวกาชาดเป็นที่พึ่งพาได้ของประชาชน

พ.ศ. 2565 บูรณาการสำนักงานยุวกาชาด และ สำนักงานอาสากาชาด

ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการสภากาชาดไทย ครั้งที่ 345 วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ได้อนุมัติให้บูรณาการสำนักงานยุวกาชาด และ สำนักงานอาสากาชาด รวมเป็นสำนักงานยุวกาชาดและอาสาสมัครกาชาด โดยมีการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนงานและโครงสร้างอัตรากำลังใหม่ และกำหนดให้สำนักงานยุวกาชาดและอาสาสมัครกาชาด เป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการอาสาสมัครของสภากาชาดไทย เพื่อก้าวไปสู่ One Red Cross One Volunteer ภายใต้การมีฐานข้อมูลและระบบอาสาสมัครที่เป็นระบบเดียวกันมีความเข้มแข็งและประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของสภากาชาดไทย