ลูกเสือ คืออะไร? มีกี่ประเภท มีกี่เหล่า

เมื่อ

โดย

ลูกเสือ คือ ประเภทลูกเสือ เหล่าลูกเสือ ลูกเสือ หมายถึง ความหมาย ลูกเสือ ชาย หญิง

ลูกเสือ คือ เด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ส่วนลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกว่า เนตรนารี

กล่าวคือ ลูกเสือ (Scout) จะนับรวมทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือ เพียงแต่ลูกเสือหญิง (Girl Scout) กำหนดให้เรียกว่า เนตรนารี (Girl Guide) หากอ้างอิงตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ขณะที่คำว่า “ลูกเสือหญิง” ในทางปฏิบัติจะหมายถึงลูกเสือหญิงในระดับผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) โดยได้ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียนต่างๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทาน คำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์”

โดยวัตถุประสงค์คณะลูกเสือแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์ 5 ข้อ ได้แก่

  1. ให้มีนิสัยในการสังเกตจดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง
  2. ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัย และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
  3. ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
  4. ให้รู้จักทำการฝีมือ และฝึกฝนให้ทำกิจการต่างๆ ตามความเหมาะสม
  5. ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณีวัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศชาติ

ประเภทของลูกเสือ

ประเภทของลูกเสือ จะแบ่งเป็น 4 ประเภทตามช่วงอายุของเด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือตามแบบอังกฤษที่ Robert Baden-Powell ได้ปฏิบัติไว้ ซึ่งในทางปฏิบัติการแบ่งตามระดับชั้นของเด็กและเยาวชนที่เป็นลูกเสือหรือเนตรนารีเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายกว่า

ลูกเสือสำรอง (Cub Scout)

อายุ 8 – 11 ปี หรือ ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น

คติพจน์: ทำดีที่สุด (Do Our Best)

ลูกเสือสามัญ (Scout)

อายุ 11 – 16 ปี หรือ ระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย

คติพจน์: จงเตรียมพร้อม (Be Prepared)

เมื่อมีอายุระหว่าง 11-17 ปี และเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จึงเลื่อนจากลูกเสือสำรองเป็นลูกเสือสามัญ

ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (Senior Scout)

อายุ 15 – 18 ปี หรือ ระดับชั้นมัธยมต้น

คติพจน์: มองไกล (Look Wide)

หลังจากลูกเสือสามัญฝึกฝนตามระเบียบแบบแผนอย่างครบถ้วน และมีอายุเพิ่มขึ้นมาอยู่ระหว่าง 15-18 ปี ในระดับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จึงเป็นลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่

ทั้งนี้ ในบางกรณีอาจรับเด็กเข้าเป็นลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ก่อนอายุ 15 ปีได้แต่ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 14 ปี 6 เดือน ส่วนลูกเสือสามัญที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว อาจเป็นลูกเสือสามัญต่อไปได้แต่ต้องอายุไม่เกิน 15 ปี 6 เดือน

ลูกเสือวิสามัญ (Rover)

อายุ 17 – 23 ปี หรือ ระดับชั้นมัธยมปลาย อาชีวะศึกษา และอุดมศึกษา

คติพจน์: บริการ (Service)

นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังได้มีการเพิ่ม “ลูกเสือชาวบ้าน” เข้ามาเป็นลูกเสือประเภทที่ 5 เพียงประเภทเดียวในโลกอีกด้วย

เหล่าของลูกเสือ

นอกจากการแบ่งประเภทของลูกเสือออกเป็น 4 ประเภทตามช่วงอายุของเด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือ ลูกเสือยังมีการแบ่งเป็นเหล่าทั้งหมด 3 เหล่าในปัจจุบัน (ปรากฏในกฎกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบลูกเสือ พ.ศ. 2510) โดยนอกจากความแตกต่างระหว่างเครื่องแบบของลูกเสือและเนตรนารีแต่ละเหล่าแล้ว ความแตกต่างระหว่างเหล่าของลูกเสือยังแตกต่างกันในส่วนของหลักสูตรและวัตถุประสงค์ของการฝึก

ลูกเสือเหล่าเสนา

ลูกเสือเหล่าเสนา คือ ลูกเสือและเนตรนารีทั่วไปที่มีมาตั้งแต่กำเนิดลูกเสือ ที่ไม่ใช่ลูกเสือเหล่าสมุทรและลูกเสือเหล่าอากาศ โดยเครื่องแบบลูกเสือเหล่าเสนา จะเป็นเครื่องแบบลูกเสือที่เป็นสีกากี และเครื่องแบบเนตรนารีที่เป็นสีเขียว ซึ่งเป็นเครื่องแบบลูกเสือประเภทที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดเนื่องจากเป็นลูกเสือและเนตรนารีรูปแบบที่มีการฝึกอบรมในสถานศึกษามากที่สุดจากทั้ง 3 เหล่าของลูกเสือ

ทั้งนี้ ลูกเสือเหล่าเสนา เป็นชื่อเรียกมีที่มาไม่แน่ชัด โดยคาดเดาว่ามาจาก พ.ร.บ. ลูกเสือ พ.ศ. 2482 ที่เดิมทีแบ่งลูกเสือเป็น ลูกเสือเหล่าเสนา และ ลูกเสือสมุทรเสนา ซึ่งการยกเลิกลูกเสือสมุทรเสนาจึงทำให้ชื่อเรียก “ลูกเสือเหล่าเสนา” ยังคงถูกเรียกต่อมาจนถึงปัจจุบันเนื่องจากเป็นลูกเสือเหล่าไม่มีชื่อเรียกที่ชัดเจนเหมือนกับ ลูกเสือเหล่าสมุทร และ ลูกเสือเหล่าอากาศ แต่เป็นการเรียกด้วยคำว่า “ลูกเสือ” และ “เนตรนารี” เฉยๆ

ลูกเสือเสนา เครื่องแบบ ลูกเสือเหล่าเสนา คือ เนตรนารีเหล่าเสนา เนตรนารีเสนา เครื่องแบบ
ตัวอย่าง เครื่องแบบลูกเสือเหล่าเสนา (กากี) และเนตรนารีเหล่าเสนา (เขียว)

ลูกเสือเหล่าสมุทร

ลูกเสือเหล่าสมุทร คือ เหล่าของลูกเสือที่มุ่งเน้นไปที่การฝึกกิจกรรมทางน้ำให้แก่ลูกเสือ มักเป็นลูกเสือที่อยู่ในบริเวณชายทะเลที่อยู่ในเขตกองทัพเรือ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีมีที่มาจากการฝึกลูกเสือเหล่าสมุทรเสนา ซึ่งแบ่งออกเป็น ลูกเสือสมุทรเสนาฝ่ายบก และลูกเสือสมุทรเสนาฝ่ายน้ำ

โดยลูกเสือสมุทรเสนาฝ่ายบก ทำหน้าที่สังเกตเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในทะเลแจ้งเจ้าหน้าเพื่อช่วยเหลือ ตลอดจนการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในเวลาสงคราม และการลาดตระเวนชายฝั่งคอยสังเกตดูเรือรบตามชายฝั่งทะเล ในขณะที่ ลูกเสือสมุทรเสนาฝ่ายน้ำ จะฝึกเกี่ยวกับการเดินเรือทะเลอย่างย่อ ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับปากเรือ ช่างกล ช่างไฟฟ้า ช่างไม้ การครัว การเก็บรักษา และการพยาบาลคนเมาคลื่น

สำหรับเครื่องแบบของลูกเสือเหล่าสมุทรในปัจจุบันจะมี 2 รูปแบบ คือ เครื่องแบบสีกากีและเครื่องแบบสีขาว ซึ่งมีลักษณะแบบชุดกะลาสีทั้ง 2 รูปแบบ

ลูกเสือเหล่าอากาศ

ลูกเสือเหล่าอากาศ คือ เหล่าของลูกเสือที่อยู่ใกล้กับบริเวณกองทัพอากาศ ในจังหวัดที่มีทหารอากาศหรือจังหวัดที่มีกองบิน โดยเครื่องแบบของลูกเสือเหล่าอากาศจะมีลักษณะคล้ายกับลูกเสือเหล่าเสนา เพียงแต่ทั้งเครื่องแบบของลูกเสือและเนตรนารีจะสีเทา ทั้งเสื้อ กางเกง ถุงเท้า และผ้าพันคอ