เครื่องหมายลูกเสือโลก คือ เครื่องหมายรูปวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.3 เซนติเมตร ในเครื่องหมายมีตราเฟลอ – เดอ – ลีส์ (ดอลลิลลี่ขาว) มีลักษณะเป็นรูป 3 กลีบสีขาวบนพื้นสีม่วง ล้อมรอบด้วยเชือกสีขาวเป็นรูปวงกลมและผูกเป็นเงื่อนพิรอดอยู่ด้านล่าง
ความหมายของเครื่องหมายลูกเสือโลก รูปเฟลอเดอลีส์เป็นเครื่องหมายของขบวนการลูกเสือที่หมายถึงการนำทางให้ลูกเสือไปในทิศทางที่ดีและถูกต้อง ซึ่งเครื่องหมายองค์การลูกเสือแห่งชาติในแต่ละประเทศจะต้องมีมีรูปเฟลอเดอลีส์เป็นแกนกลางในเครื่องหมายองค์การลูกเสือแห่งชาตินั้นๆ
โดยเฟลอเดอลีส์ที่มีลักษณะ 3 กลีบมีความหมายถึงคำปฏิญาณของลูกเสือ 3 ข้อ ที่ลูกเสือจะต้องกล่าวในพิธีปฏิญาณตนและทบทวนคำปฏิญาณ ส่วนดาวห้าแฉกสีม่วง 2 ดวงในกลีบซ้ายและกลีบขวาของเฟลอเดอลีส์ในเครื่องหมายลูกเสือโลก หากรวมกันจะมี 10 แฉก ซึ่งแทนงกฎของลูกเสือ 10 ข้อ
ส่วนเส้นเชือกในเครื่องหมายลูกเสือโลกที่เป็นวงกลมรอบดอกเฟลอเดอลีส์คือจักรวาล (หรือในบริบทนั้นคือโลก) ในขณะที่เกลียวเชือกแทนสมาชิกลูกเสือทุกคนขององค์การลูกเสือโลก และสุดท้ายปลายเชือกที่ผูกกันเป็นเงื่อนพิรอดนั้นหมายถึงการจับมือแบบลูกเสือที่ใช้แสดงความเป็นมิตร ตามกฎของลูกเสือข้อที่ 4 ที่มีความว่า “ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก”
ทั้งนี้ เฟลอเดอลีส์ และเชือกสีขาวบนพื้นสีม่วงของเครื่องหมายลูกเสือโลก ในหนังสือการลูกเสือของทางฝั่งอังกฤษบางเล่มอาจจะใช้คำว่า “แอโรว์เฮด (Arrowhead)” แทนคำว่า “เฟลอเดอลีส์ (Fleur-de-lis)”
เครื่องหมายลูกเสือโลก ติดตรงไหน?
การประดับเครื่องหมายลูกเสือโลก จะติดตรงที่กึ่งกลางกระเป๋าเสื้อข้างซ้ายของ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และ ลูกเสือวิสามัญ ซึ่งสัญลักษณ์ลูกเสือโลกจะติดได้ก็ต่อเมื่อลูกเสือ-เนตรนารีได้ผ่านการทดสอบตามหลักสูตรแล้ว
โดยหลักสูตรที่ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่และลูกเสือวิสามัญจะต้องผ่านจะถูกระบุเอาไว้ใน หมวด 1 เครื่องหมายลูกเสือโลก ของ ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ฉบับที่ 14 พ.ศ. 2528
และ หมวด 2 เครื่องหมายลูกเสือโลก ของ ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือวิสามัญ ฉบับที่ 15 พ.ศ. 2529
หลักสูตรที่เป็นเกณฑ์ของการประดับเครื่องหมายลูกเสือโลก
หลักสูตรที่จะต้องผ่านการทดสอบก่อนที่จะติดเครื่องหมายลูกเสือโลกจะเหมือนกันทั้งลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่และลูกเสือวิสามัญ โดยมีดังนี้
1) แสดงว่าลูกเสือมีความเข้าใจเรื่องราวต่อไปนี้พอสมควร
- กิจการของคณะลูกเสือแห่งชาติ
- กิจการของลูกเสือโลกและความสัมพันธ์ระหว่างลูกเสือนานาชาติ
- บทบาทของตนเองในฐานะที่เป็นลูกเสือวิสามัญ
2) เข้าใจ ยอมรับ และปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสืออย่างผู้ใหญ่
3) เข้าใจเรื่องระเบียบแถว และปฏิบัติตามหนังสือคู่มือการฝึกระเบียบแถวลูกเสือของสำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
4) กางและรื้อเต็นท์ที่พักแรมในเวลากลางคืนกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่/ลูกเสือวิสามัญอีกคนหนึ่ง
5) สาธิตการบรรจุเครื่องหลังอย่างถูกต้อง สำหรับการเดินทางไกลไปพักแรมค้างคืน
6) ก่อและจุดไฟกลางแจ้ง แล้วปรุงอาหารอย่างเพียงพอสำหรับ 2 คน
7) สามารถอ่านและใช้แผนที่ เข็มทิศ และรู้จักบริเวณที่ตนอยู่ โดยพิจารณาจากเข็มทิศและสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นด้วยตาเปล่า
8) สามารถผูกและรู้จักประโยชน์เงื่อน 10 เงื่อน
- เงื่อนพิรอด
- เงื่อนขัดสมาธิ
- เงื่อนกระหวัดไม้
- เงื่อนบ่วงสายธนู
- เงื่อนตะกรุดเบ็ด
- เงื่อนประมง
- เงื่อนผูกซุง
- เงื่อนผูกรั้ง
- เงื่อนปมตาไก่ (เงื่อนเลข 8)
- การผูกแน่น (ผูกทแยง ผูกกากบาท ผูกประกบ)
9) รู้วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล ในเรื่องต่อไปนี้ คือ บาดแผลธรรมดา ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นลม งูกัด แมงมุมกัด แมลงกัดต่อย ผิวหนังถลอก และเท้าแพลง
10) รู้เรื่องที่พึงระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยทั่วไป เกี่ยวกับกิจกรรมของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่/ลูกเสือวิสามัญ