สํานักงานลูกเสือแห่งชาติ คือ หน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น โดยสํานักงานลูกเสือแห่งชาติมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ
ปัจจุบัน สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่ 60/38 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20110
และมีศูนย์ประสานงานสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อาคารรัชมังคลาภิเษก 2 ชั้น 5 กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีไว้ทำไม?
สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ คือ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
- ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในทรัพย์สินของคณะลูกเสือแห่งชาติหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
- ทำนิติกรรมสัญญาหรือข้อตกลงอื่น
- รับผิดชอบการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- ควบคุมดูแลกิจการลูกเสือให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการ และคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ รวมทั้งถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของลูกเสือ
- จัดให้มีการฝึกอบรมหรือการชุมนุมลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือ
- จัดทำรายงานประจำปีพร้อมงบดุลเสนอคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- จัดให้มีทะเบียนและสถิติต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกเสือ
- ประสานและส่งเสริมสำนักงานลูกเสือจังหวัดและสำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา
- ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและตามมติของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ คือ องค์กรบริหารของคณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วย
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ
- กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการสภากาชาดไทย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบห้าคนซึ่งสภานายกสภาลูกเสือไทยแต่งตั้งโดยคำแนะนำของกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติตาม (๑) และ (๒) ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมาจากภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
และให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการและผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
หมายเหตุ: กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ และเมื่อกรรมการพ้นตำแหน่ง จะต้องดำเนินการแต่งตั้งกรรมการใหม่ภายใน 90 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน แต่ถ้าวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่น้อยกว่า 180 วันจะไม่ดำเนินการแต่งตั้งแทนก็ได้
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ คือ องค์กรบริหารของคณะลูกเสือแห่งชาติ โดยคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
- ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย
- ส่งเสริมความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ
- สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ
- สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
- จัดการทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- ให้ความเห็นชอบในการลงทุนเพื่อประโยชน์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- ออกข้อบังคับของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- วางระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการลูกเสือ
- จัดทำรายงานประจำปีเสนอสภาลูกเสือไทยพิจารณาตามมาตรา ๑๒ (๓)
- แต่งตั้งที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติมอบหมาย
- กำกับดูแล สนับสนุนและส่งเสริมกิจการลูกเสือชาวบ้าน
- จัดตั้งตำแหน่งกิตติมศักดิ์ และตำแหน่งอื่นใดที่มิได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้
- ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
รายได้และทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
สำนักงานลูกเสือแห่งชาติมีรายได้จาก
- เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี
- เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
- ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่นตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนหรือการร่วมลงทุนกับหน่วยงานและบุคคลภายนอก รวมทั้งผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และทรัพย์สินที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์
- รายได้หรือผลประโยชน์อื่น
โดยที่เงินหรือรายได้ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติไม่เป็นเงินหรือรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และการใช้จ่ายเงินหรือรายได้ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่กิจการลูกเสือตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
ในส่วนของการรับผิดชอบการบริหารงานของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างในสำนักงาน จะรับผิดชอบโดยเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ รวมถึง
- ควบคุมดูแลทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
- เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสำนักงาน รวมทั้งการเงินและบัญชี ตลอดจนกระบวนการดำเนินงาน แผนการเงินและงบประมาณของปีถัดไปต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติและตามนโยบายของสภาลูกเสือไทย
- บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง และลงโทษทางวินัย พนักงานและลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบของทางราชการและคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
- กิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นผู้แทนของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เพื่อการนี้เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติหน้าที่เฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด
ทั้งนี้ กิจการของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่การบัญชีของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ให้จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี และต้องจัดให้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติทราบอย่างน้อยปีละครั้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกำหนด โดยให้สำนักงานลูกเสือแห่งชาติจัดทำงบการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณเพื่อตรวจสอบ
อสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้มาโดยมีผู้อุทิศให้หรือได้มาจากการให้ ซื้อด้วยเงินรายได้ของสำนักงาน หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ หรือได้มาโดยวิธีอื่น ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ และให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ โดยการจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ของสำนักงานตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เมื่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติไม่ขัดข้องและได้รับค่าตอบแทนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้นแล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะต้องจัดการตามเงื่อนไขที่ผู้อุทิศให้กำหนดไว้ และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว สำนักงานลูกเสือแห่งชาติต้องได้รับความยินยอมจากผู้อุทิศให้หรือทายาท หากไม่มีทายาทหรือทายาทไม่ปรากฏจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติในเรื่องทรัพย์สินมิได้