จูนิเบียว (中二病 หรือ chuunibyou) เรียกสั้นๆ ว่า “เบียว” เป็นศัพท์สแลงในแง่ลบในภาษาญี่ปุ่นที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของคนที่มักจะหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองมีความพิเศษ มีพลังวิเศษ แตกต่าง หรือมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ อีกทั้งยังรวมถึงการแสดงท่าทีที่ (คิดว่า) เท่ออกมา ทั้งที่ดูประหลาดในสายตาคนทั่วไป หรือการออกความคิดเห็นกับเรื่องบางอย่างราวกับว่าผู้รู้ลึกรู้จริงกว่าใคร (ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่)
โดยพฤติกรรม “จูนิเบียว” หรือ “เบียว” เหล่านี้มักเกิดจากความต้องการที่จะโดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่น
ตัวอย่าง ลักษณะของพฤติกรรมจูนิเบียว ได้แก่
- การพูดจาโอ้อวด มักจะพูดถึงความสามารถพิเศษ พลังวิเศษ หรือความลับของตัวเอง
- การแต่งกายแปลกๆ มักจะแต่งกายด้วยชุดที่ดูแตกต่างจากคนอื่น หรือมีเครื่องประดับที่ดูแปลกตา (และมักจะเชื่อว่าตัวเองโดดเด่น และ/หรือ เท่)
- การแสดงท่าทางแปลกๆ มักจะแสดงท่าทางที่ดูโอเวอร์เกินจริง หรือมีท่าทางเฉพาะตัว
- การใช้ภาษาที่แปลกประหลาด มักจะใช้คำศัพท์ที่คนอื่นไม่เข้าใจ หรือสร้างคำศัพท์ขึ้นมาเอง
- การหมกมุ่นกับเรื่องแฟนตาซี มักจะสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับเวทมนตร์ พลังวิเศษ หรือโลกแฟนตาซี หรือสิ่งอื่นใดที่เกินความจริง หรือขัดต่อสามัญสำนึกปกติของสังคม
ที่มาของคำว่า จูนิเบียว
จูนิเบียว (中二病 chuunibyou) มาจากคำว่า “จูนิ” (中二 chuu-ni) หมายถึง “มัธยมศึกษาปีที่ 2” ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เด็กมักจะเริ่มมีความคิดและจินตนาการที่ซับซ้อนมากขึ้น ส่วนคำว่า “เบียว” (病 byou) หมายถึง “โรค”
ดังนั้น จูนิเบียว จึงหมายถึง “โรคของเด็กมัธยมปีที่ 2” หรือ “โรคเด็ก ม.2” โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมเหล่านี้เหมือนกับอาการของโรคชนิดหนึ่ง
หรือในอีกความหมายหนึ่ง จูนิเบียว จึงเป็นการแสดงออกของพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากเด็ก ม.2 ของคนคนหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะมีอายุเท่าไหร่
“จูนิเบียว” เป็นคำที่ใช้กันมาตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1999 ในรายการวิทยุ “UP’s” ของประเทศญี่ปุ่น แต่มาแพร่หลายหลังจากปี 2012 ที่อนิเมะ “Chuunibyou demi Koi ga shitai!” หรือ “รักสุดเพี้ยนของยัยเกรียนหลุดโลก” ได้ออกอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องราวของ “โทงาชิ ยูตะ” นักเรียนชั้นมัธยมปลายคนหนึ่ง ซึ่งเคยมีอาการจูนิเบียวคิดว่าตัวเองมีพลังวิเศษ “Dark Flame Master” เมื่อสมัย ม. ต้น ทำให้เขาแปลกแยกจากเพื่อนๆ จนเมื่อหายจากอาการดังกล่าว เขารู้สึกอับอายมากจนต้องหนีไปเข้าโรงเรียนห่างไกล ซึ่งทำให้ได้เจอกับ “ทาคานาชิ ริกกะ” เด็กหญิงที่มีการจูนิเบียว
จูนิเบียวในวัฒนธรรมสมัยนิยม
จูนิเบียว กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมสมัยนิยมของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในอนิเมะ มังงะ และไลต์โนเวล ตัวละครที่มีลักษณะจูนิเบียวมักจะเป็นตัวละครที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีบุคลิกที่โดดเด่นและน่าสนใจ
ในสังคมไทย คำว่า “จูนิเบียว” หรือ “เบียว” ก็เป็นที่รู้จักและใช้กันในสังคมไทยเช่นกัน โดยมักจะใช้ในเชิงล้อเลียนหรือแซวผู้ที่แสดงออกในลักษณะของจูนิเบียว
อย่างไรก็ตาม ควรใช้คำว่า “จูนิเบียว” หรือ “เบียว” ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้ผู้ที่ถูกเรียกหรือกล่าวถึงด้วยคำนี้รู้สึกไม่พอใจได้
ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก – ชูนิเบียว (Wikipedia), กว่าจะมาถึงวันนี้ เมื่อก่อนเคยเป็น “จูนิเบียว” กันรึแปล่า? (Wecomics) และ เบียวไม่เบียวไม่เกี่ยวกับวัย ‘จูนิเบียว’ โรคเด็กมอสอง ที่ใครๆ ก็ (อาจ) เคยเป็น (Brand Think)