มรรค 8 คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่นิโรธหรือนำไปสู่ความดับทุกข์ซึ่งเป็นความดับโดยสิ้นกำหนัดไม่เหลือเหตุแห่งตัณหา ซึ่งเรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา โดยมรรคเป็น 1 ใน อริยสัจ 4
มรรคมีองค์ประกอบอยู่ 8 ประการ ได้แก่
- สัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ
- สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ
- สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ
- สัมมากัมมันตะ คือ กระทำชอบ
- สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ
- สัมมาวายามะ คือ พยายามชอบ
- สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ
- สัมมาสมาธิ คือ ตั้งใจชอบ
มรรค 8 เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หมายถึง ทางสายกลาง ที่หลายคนอาจเคยได้ยินว่า เดินทางสายกลางเพื่อดับทุกข์ จากการที่ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าอริยมรรคมีองค์ 8 หรือ อัษฎางคิกมรรคนี้เป็นทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น
ความหมายของมรรคทั้ง 8 โดยสรุป
โดยในวิภังคสูตรพระพุทธเจ้าได้อธิบายรายละเอียดของมรรค 8 เอาไว้ดังนี้
สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ 4 ซึ่งได้แก่
- ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น (ทุกข์เหล่านี้เรียกว่า อุปาทานขันธ์ หรือ ขันธ์ 5)
- สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริงคือความทะยานอยาก หรือ ตัณหา 3 ได้แก่ กามตัณหา ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่, และ วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่
- นิโรธ คือ ความดับทุกข์โดยสิ้นกำหนัดไม่เหลือแห่งตัณหา ได้แก่ จาโค ความสละตัณหานั้น, ปะฏินิสสัคโค ความวางตัณหานั้น, มุตติ การปล่อยตัณหานั้น, และ อะนาละโย ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้น
- มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่นิโรธหรือนำไปถึงความดับทุกข์ โดยมรรคมีองค์ 8
สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) ได้แก่ เนกขัมมสังกัปป์ ความคิดในการออกจากกามปลอดจากโลภะ, อพยาบาทสังกัปป์ ความไม่พยาบาท, และ อวิหิงสาสังกัปป์การไม่เบียดเบียน
สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ ทั้ง 4 สัมมาวจาเหล่านี้เรียกว่า “วจีสุจริต 4 หรือการเว้นจาก วจีทุจริต 4”
สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) เป็นการละเว้นจากความประพฤติชั่วทางกาย 3 อย่าง ได้แก่ ละเว้นจากการฆ่า ละเว้นจากการเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นคือ การทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต
สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) หมายถึง สัมมัปปธาน 4 คือ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง การมีสติกำหนดระลึกรู้อยู่เป็นนิจว่า กำลังทำอะไรอยู่ กำหนดรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในขณะปัจจุบัน ซึ่งตามความจำกัดความแบบพระสูตร คือหลักธรรมที่เรียกว่า สติปัฏฐาน 4 ได้แก่
- กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้ในกาย คือ อิริยาบถ 4 การเคลื่อนไหว (อานาปานบรรพ อิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวถิกาบรรพ)
- เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้ในเวทนา คือ เวทนาทางกาย ทางใจ สุข ทุกข์ อุเบกขา
- จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้ในจิต จิตมีโทสะรู้ มีราคะรู้ มีโมหะรู้ ฯลฯ
- ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้ในธรรม คือ สัญญา (ความนึก) และสังขาร (ความคิด)
สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) หมายถึง ความตั้งใจมั่นโดยถูกทางและไม่ฟุ้งซ่าน
อ้างอิง มรรคมีองค์แปด (Wikipedia)