กฎของลูกเสือ เป็นกฎที่ลูกเสือและเนตรนารีให้คำมั่นและต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อให้เป็นลูกเสือที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยกฎของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ จะประกอบด้วยกฎ 10 ข้อ
สำหรับเนตรนารีเองก็จะใช้กฎเช่นเดียวกับกฎของลูกเสือ (รวมถึงคําปฏิญาณของเนตรนารีเองก็เช่นกัน) เนื่องจาก ลูกเสือ มีความหมายรวมถึงทั้งเด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิงที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา เพียงแต่ลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกว่า เนตรนารี หากอ้างอิงตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551
โดยกฎของลูกเสือจะถูกระบุเอาไว้ใน ข้อ 10 ของข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509
กฎของลูกเสือ 10 ข้อ
กฎของลูกเสือ คือ กฎที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์การปฏิบัติตนของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม ควบคู่กับคําปฏิญาณของลูกเสือ ทั้ง 3 ข้อที่ให้ไว้
กฎของลูกเสือมีทั้งหมด 10 ข้อ ได้แก่
- ข้อ 1. ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
- ข้อ 2. ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ
- ข้อ 3. ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น
- ข้อ 4. ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก
- ข้อ 5. ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
- ข้อ 6. ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
- ข้อ 7. ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
- ข้อ 8. ลูกเสือมีใจร่าเริง และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
- ข้อ 9. ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
- ข้อ 10. ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
ที่มาของกฎของลูกเสือ
กฎของลูกเสือ 10 ข้อ ของไทยเป็นสิ่งที่มีที่มาจากกฎของลูกเสือจากหนังสือ Scouting for Boys ของ Robert Baden-Powell (B.P.) ในปี 1908 ซึ่งกฎของลูกเสือจากหนังสือดังกล่าว ได้แก่
- A Scout’s Honour Is to Be Trusted.
- A Scout Is Loyal.
- A Scout’s Duty Is to Be Useful and to Help Others.
- A Scout Is a Friend to All, and a Brother to Every Other Scout, No Matter to What Social Class the Other Belongs.
- A Scout Is Courteous.
- A Scout Is a Friend to Animals.
- A Scout Obeys Orders.
- A Scout Smiles and Whistles.
- A Scout Is Thrifty.
จะเห็นว่าแต่เดิมกฎของลูกเสือมีอยู่ 9 ข้อเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามกฎของลูกเสือ (Scout Law) ได้มีการแก้ข้อความอยู่หลายครั้งโดย Baden-Powell หรือ B.P. ที่เป็นผู้ก่อตั้งลูกเสือ
จนกระทั่งในปี 1911 ได้มีการเพิ่มกฎของลูกเสือข้อที่ 10 เข้ามา คือ “A Scout Is Clean in Thought, Word and Deed.” หรือที่ กฎของลูกเสือไทย คือ “ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ”