อริยสัจ 4 หรือ จตุราริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค โดยอริยสัจ 4 เป็นหลักปฏิบัติอันเป็นกลางที่พระโคตมพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นหนทางสู่การดับทุกข์
อริยสัจ 4 ได้แก่
- ทุกข์ (ทุกขสัจจะ) หมายถึง สภาพที่ทนได้ยาก หรือปัญหาต่าง ๆ ของมนุษย์
- สมุทัย (สมุทัยสัจจะ) หมายถึง เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ที่แท้จริง
- นิโรธ (นิโรธสัจจะ) หมายถึง ความดับทุกข์ การคลายออก การสละเสีย หรือการไม่พัวพัน
- มรรค (มัคค สัจจะ) หมายถึง แนวปฏิบัติที่นำไปสู่นิโรธหรือการดับทุกข์ ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ เรียกว่า มรรค 8
อริยสัจ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะหรืออารยชน
อริยสัจ 4 รู้จักในอีกชื่อคือ จตุราริยสัจ
โดยอริยสัจ 4 ถือเป็นหลักคำสอนที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมะอริยสัจ 4 แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ในวันอาสาฬหบูชา
ทุกข์
ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก หรือปัญหาต่าง ๆ ของมนุษย์ที่อยู่ในรูปของความบีบคั้น ขัดข้อง ติดขัด อัดอั้นต่าง ๆ ที่เราเรียกกันว่า “ความทุกข์” ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์กายหรือทุกข์ใจก็ตาม
ทุกข์ ประกอบด้วย ทุกข์อันเกิดจากการเกิด ความแก่ชรา การเจ็บปวด ความตาย การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก และการไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา (ความไม่สมหวังใน)
ทุกข์เกิดขึ้นจากสมุทัย
สมุทัย
สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ อันเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ความทุกข์ ซึ่งเกิดจากความทะยานอยาก
โดยสมุทัยที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ เกิดขึ้นจากความอยาก 3 รูปแบบ ได้แก่
- กามตัณหา คือ ความอยากได้ในทางกามารมณ์ทั้ง 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส
- ภวตัณหา คือ ความพอใจในภพ หรือ ความอยากเป็น หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้น คือ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่
- วิภวตัณหา คือ ความพอใจในความไม่เป็น หรือ ความไม่อยากเป็น (ตรงข้ามกับ ภวตัณหา)
สมุทัยเป็นต้นเหตุของทุกข์
นิโรธ
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ภาวะดับกิเลส เป็นสภาวะที่ความทุกข์ที่มีดับสูญอย่างสิ้นเชิง เป็นความสละ ความวาง ความปล่อยจากทุกข์ที่เกิดขึ้น (จาโค ความสละตัณหานั้น, ปะฏินิสสัคโค ความวางตัณหานั้น, มุตติ การปล่อยตัณหานั้น, และอะนาละโย ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้น)
นิโรธดับด้วยมรรค
มรรค
มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่นิโรธหรือนำไปสู่ความดับทุกข์ที่มีอย่างสิ้นเชิง เป็นทางสายกลางที่ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ เรียกว่า มรรค 8 ได้แก่
- สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) คือ ความรู้ความเข้าใจในอริยสัจ 4 ที่เปรียบเสมือนภาพกว้างของทุกข์และการดับทุกข์
- สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) ได้แก่ ความคิดในการออกจากกามปลอดจากโลภะ, อพยาบาทสังกัปป์ ความคิดที่ไม่พยาบาท, และอวิหิงสาสังกัปป์ ความคิดที่ไม่เบียดเบียน
- สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) คือ การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ ทั้ง 4 สัมมาวจาเหล่านี้เรียกว่า “วจีสุจริต 4 หรือ การเว้นจาก วจีทุจริต 4”
- สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) ละเว้นประพฤติชั่วทางกายทั้ง 3 ได้แก่ เว้นจากการฆ่า เว้นจากการเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
- สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) คือ การเว้นจากมิจฉาชีพ (ทำมาหากินด้วยอาชีพสุจริต)
- สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) ได้แก่ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
- สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) คือ การมีสติกำหนดระลึกรู้ว่าทำอะไรอยู่ กำหนดรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในขณะปัจจุบัน
- สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) คือ ความตั้งใจมั่นโดยถูกทางและไม่ฟุ้งซ่าน
มรรคคือแนวทางในการดับทุกข์ (ทำให้เกิดนิโรธ)
ข้อมูลอ้างอิง วันอาสาฬหบูชา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) และ อริยสัจ 4