พู่ลูกเสือ (Garter) มีที่มาจากการแต่งกายของผู้ชายที่เป็นขุนนางและอัศวินที่มีการใส่ถุงน่องยาวแบบผู้หญิง ทำให้ต้องมีเชือกผูกกันถุงน่องรูด เชือกดังกล่าวเมื่อผูกแล้วจะทิ้งชายลงมาห้อยเอาไว้ซึ่งปลายเชือกดังกล่าวมีลักษณะเป็นพู่
BP ที่เป็นผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลกเองก็เป็นขุนนางชั้นอัศวิน และเครื่องแบบลูกเสือของ BP ใช้กางเกงขาสั้น กับถุงเท้ายาว (ที่ใช้เป็นคติว่า “การเป็นลูกเสือ คือ การเป็นผู้มีเกียรติ”) จึงต้องผูกเชือกกันถุงเท้ารูดลงมาเช่นเดียวกันกับขุนนาง
ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของพู่ลูกเสือที่ใช้ประดับถุงเท้าลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (สีเลือดหมู) และลูกเสือวิสามัญ (สีแดง) รวมถึงผู้กำกับลูกเสือชาย
ทั้งนี้ ก่อนที่ Garter จะเป็นส่วนหนึ่งการแต่งกายของผู้ชายที่เป็นขุนนางและอัศวิน เดิมทีมาจากการที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ที่ 3 กษัตริย์แห่งราชวงศ์แพลนทาเจเน็ตของราชอาณาจักรอังกฤษ ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ (Order of the Garter) เมื่อราวปี ค.ศ. 1348 เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด
พู่ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
พู่ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ จะใช้เป็นพู่สีเลือดหมูข้างละ 2 คู่ สำหรับติดที่ถุงเท้าลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
พู่ลูกเสือวิสามัญ
พู่ลูกเสือวิสามัญ จะใช้เป็นพู่สีแดงข้างละ 2 คู่ สำหรับติดที่ถุงเท้าลูกเสือวิสามัญ
พู่สำหรับผู้กำกับลูกเสือ
พู่ผู้กำกับลูกเสือ หรือ พู่สำหรับผู้บังคับบัญชาลูกเสือ จะใช้พู่สีที่แตกต่างกันตามประเภทของผู้กำกับลูกเสือ
- ผู้กำกับลูกเสือสำรอง จะใช้พู่สีเขียว
- ผู้กำกับลูกเสือสามัญ เหล่าเสนา เหล่าอากาศ เหล่าสมุทร จะใช้พู่สีเลือดหมู
- ผู้กำกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เหล่าเสนา เหล่าอากาศ เหล่าสมุทร จะใช้พู่สีเลือดหมู
- ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ เหล่าเสนา เหล่าอากาศ เหล่าสมุทร จะใช้พู่สีแดง
โดยจะมีเพียงผู้บังคับบัญชาลูกเสือชายเท่านั้น ที่มีการประดับพู่ที่ถุงเท้าของผู้บังคับบัญชาลูกเสือเท่านั้น